Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

The Colorful Tattoo Artist

ท่องโลกแห่งรอยสักสีสันสดใสไปกับ สุปรียา ศรีสำราญ
Interview

โดยปกติแล้วภาพจำของช่างสักที่เรารู้จักมักจะเป็นคนที่มีลายสักลุกลามทั่วผิวกาย โชว์สกิลล์และความหลงใหลในน้ำหมึกบนผืนหนัง แต่สำหรับออม-สุปรียา ศรีสำราญ แห่ง AOMOA Tattoo Studio ในย่านเอกมัย กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเธอคือ หญิงสาวหน้าหวาน มาดเท่ ที่นำความเฟมินีนในตัวมาถ่ายทอดผ่านน้ำหมึกสี โดยใช้ลายเส้นเฉพาะตัวที่มี ‘ความมุ้งมิ้ง’ และสีสันสดใส ช่วยลบภาพจำอันแสนดุดันของรอยสักไปโดยสิ้นเชิง แต่เชื่อไหมว่า บนผิวกายของเธอเองไม่มีรอยน้ำหมึกใดๆ มาตีตราว่า เธอประกอบอาชีพเป็นช่างสัก แต่ผลงานที่เกิดขึ้นในสตูดิโอสักสีป๊อปอาร์ตของเธอเป็นประจักษ์พยานว่า ฝีมือการลงน้ำหมึกสีสดของเธอนั้นไม่ด้อยไปกว่าใคร

“ออมไม่ได้เริ่มจากการที่เราชอบสัก เราชอบวาดรูป ชอบเป็นคนลงมือสัก มากกว่าชอบโดนสัก แต่จริงๆ ก็เคยลองเอาเข็มเปล่าที่ไม่ได้จุ่มหมึกมาจิ้มตัวเอง เพราะอยากรู้ว่า ความรู้สึกเป็นอย่างไร แต่พอลองแล้วก็ไม่ชอบ มันเจ็บแบบที่เรารู้สึกว่า เราไม่ควรจะต้องทนกับอะไรแบบนี้ แต่คนอื่นเขาทนได้ แล้วอีกอย่างก็คือ กลัวจะเบื่อนี่แหละ กลัวว่า ถ้าวันนั้นเราสักรูปนี้ไป แล้วตอนนี้เรายังจะชอบมันอยู่ไหม เพราะมันติดแล้วติดเลย”

ความกังวลของช่างสักมืออาชีพอย่างเธอไม่ต่างจากคนทั่วไปที่กลัวความเจ็บปวด และความคงทนถาวรของรอยหมึก แต่ถึงอย่างไรความชื่นชอบในศิลปะรอยสักของเธอก็ซึมลึกมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยเรียน
“ออมเริ่มสนใจเรื่องการสักตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่สองค่ะ แล้วก็ทำงานที่เกี่ยวกับงานศิลปะอยู่แล้วด้วย เรารู้สึกว่า การสักน่าจะเหมือนกับการวาดรูป เราก็เลยไปลองซื้อเครื่องสักมาทดลองดู  แรกๆ เราซื้อหนังหมูสดๆ จากตลาดมาโกนขนแล้วลองสักดูก่อน นั่นเมื่อ 7 ปีก่อนนะคะ แต่เดี๋ยวนี้เขามีหนังเทียมให้ลองสักแล้ว”

เมื่อทดลองกับแผ่นหนังหมูที่นอนนิ่งไม่ไหวติงให้สักแต่โดยดีจนชำนาญ คราวนี้เธอได้ทดลองสักลงบนผิวกายคนจริงๆ โดยมีเพื่อนใจกล้าลองให้สักตัวอักษรบ่งบอกนามสกุลลงบนผิว ซึ่งถึงแม้จะเป็นลายสักง่ายๆ แต่มือใหม่หัดสักก็ตื่นเต้นจนมือสั่น แต่สุดท้ายผลลัพธ์ออกมาก็อยู่ในลายเส้นที่ร่างไว้ตามความต้องการของตัวแบบ ต่อมาเธอได้ฝึกฝนลวดลายสักสไตล์ Old School รวมถึงลายสักตามสั่งจนชำนาญจากการสั่งสมประสบการณ์ในร้านสักบนถนนข้าวสาร จนกระทั่งได้เริ่มค้นพบสไตล์ของตัวเอง และก่อตั้งสตูดิโอที่ทุกมุมรายล้อมไปด้วยสีสัน
“ตัวออมเองไม่ได้ชอบลายสักแบบ Old School ที่มีความหยาบ แล้วก็ใช้สีดำเป็นส่วนใหญ่ เราก็เลยปรับให้มันเป็นสีสันแบบที่เราชอบ ส่วนตัวออมชอบใช้ primary colour ใช้แม่สีเลย แต่ว่าถ้าบางงานถ้าเราใช้แม่สีอย่างเดียว มันจะดูเลี่ยนเกินไป ก็อาจจะมีปาดโทนสีตุ่นๆ บ้าง หรือใช้สีพาสเทลเข้าไปด้วย หรือแม้กระทั่งบางงานเราอยากให้สไตล์งานมันเป็นแบบพาสเทลเลยก็ใช้แค่พาสเทลไปเลยก็มี”

เธอเล่าพลางเปิดตัวอย่างลายสักในสมุดให้เราชมเป็นตัวอย่าง ลวดลายของเธอมีทั้งลาย Old School ที่ถูกตัดทอนให้ดูเป็นการ์ตูน ลายสักกราฟิกสไตล์มินิมัลที่ใช้ลายเส้นง่ายๆ สีสันสดใส ไปจนถึงลายเส้นยึกยักแบบเด็กหัดวาดรูป ทุกวันนี้ลายสักมีวิวัฒนาการไปไกล และแปรรูปไปเป็นงานศิลปะที่สลักอยู่บนผิวกายได้ตลอดกาล
“ช่วงหลังๆ ออมคิดว่า รอยสักมันอิงกับงานศิลปะที่ คนเริ่มนำงานศิลปะทั่วไปมาสัก เราเลยได้เห็นโทนสีที่หลากหลายขึ้น เห็นสไตล์งานที่ไม่ใช่แค่ Old School, New School , ญี่ปุ่น หรือกราฟิกอะไรแบบนั้นแล้ว เริ่มเป็นอะไรที่นอกเหนือจากสไตล์งานสักเข้ามา มันก็เลยเป็นอิทธิพลในการออกแบบงานของเราเหมือนกัน”

แน่นอนว่า งานสร้างสรรค์รอยสักที่เธอถนัดย่อมเป็นงานที่ได้ใช้หมึกสีสดสวย

งานที่รู้สึกสนุกที่สุดก็คือเป็นงานสี

“จริงๆ ชอบทั้งงานสีที่มีเส้น แล้วก็ไม่มีเส้น แล้วคนที่มาสักกับออมจะมีหลายประเภท ถ้าเป็นกลุ่มคนวัยรุ่นก็จะสักอะไรที่ตามเทรนด์ ตามศิลปิน หรือตามดารา  สไตล์งานก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ช่วงหนึ่งโทนสีรุ้งฮิตมาก กลุ่มนี้ก็จะเข้ามาสักสีรุ้งกันเยอะแยะเลย ช่วงหนึ่งฮิตสักตามศิลปิน เช่น สักตาม G-Dragon หรือสักรูปผีเสื้อแบบในซีรีส์เกาหลี

…อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่หน่อย เขาก็จะเริ่มสักอะไรที่มีความหมาย ซึ่งในเคสนี้เขาก็จะให้เราออกแบบว่า สมมติ เขาอยากได้ภาพครอบครัวเขา หรือภาพสัตว์เลี้ยงของเขา เขาจะให้ออกแบบลายให้เป็นสไตล์ของออม แล้วก็อีกกลุ่มหนึ่งก็จะเป็นแบบนอกกระแสเลย คือ สักอะไรแบบเพี้ยนๆ บ้าๆ บอๆ ไปเลยก็มี

…สำหรับช่วงนี้โทนแม่สี โทนสีตัดกันกำลังฮิต ด้วยความที่ร้านออมน่ะ ไม่ได้ชอบทำแนวงานที่เป็นสีโมโนโทน เราถนัดงานที่ใช้สีเยอะๆ สลับไปเรื่อยๆ มีทั้งแม่สี สีพาสเทล แล้วยังมีสไตล์งานที่อยู่ตรงกลางระหว่างสีสดๆ แน่นๆ ออกมาเป็นสีแป้งๆ ซึ่งมักจะใช้กับพวกงานการ์ตูน ส่วนงานสไตล์เกาหลีสีจะฟุ้งๆ ออกซีดกว่างานการ์ตูนหน่อย เพราะต้องใช้เนื้อสีที่เหมือนเราผสมน้ำลงไป มันก็จะออกมาซอฟต์กว่า และให้ความรู้สึกละมุนกว่า”

ขวดหมึกสีนานาเฉดบนผนังร้านเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า เฉดสีหมึกที่ใช้ในการสักมีให้เลือกสรรได้ตามจินตนาการไม่ต่างจากการทำงานจิตรกรรมที่มีสีให้เลือกหลากชนิด แต่การทำงานศิลปะลงบนหนังมนุษย์นั้นต่างจากการลงสีบนผืนผ้าใบ ตรงที่สีไม่ไหลหลอมรวมกันได้ง่าย แต่ก็ต้องวางแผนการลงสีเป็นลำดับขั้นตอนชัดเจน
“โดยธรรมชาติของผิวหนัง เวลาหมึกสีลงไปที่ชั้นผิวแล้ว มันจะไม่ได้ไหลไปหากัน ไม่เหมือนกระดาษสีน้ำที่ลงสีปุ๊บ แล้วมันจะพุ่งเข้าหากัน สีจะอยู่ในชั้นของมัน ถูกล็อคไว้ตรงนี้ ไม่ไหลรวมกัน แต่เราต้องวางแผนในการทำงานเหมือนกัน สมมติ เราเห็นแล้วว่า งานนี้มีเส้นแบบนี้นะ มีกี่สี มีสีอะไรบ้าง เราก็ต้องวางแผนว่า งานนี้เราจะทำอะไรก่อนหลัง ถ้าเป็นงานที่ใช้เส้นนำชัดเจนน่ะ เราต้องเดินเส้นก่อนอยู่แล้วแหละ จากนั้นเราค่อยลงสีที่เข้มก่อนให้หมดทั้งภาพ แล้วก็ค่อยๆ ลงสีถัดไปๆ จนลงสีสุดท้ายเป็นสีที่สว่างที่สุด คือ สีขาว หรือไฮไลต์ต่างๆ ก็ต้องเอาไว้เก็บงานขั้นท้ายสุด

…ทีนี้พอเป็นเนื้อคนเรา พอหน้าผิวเปิดแล้วชั้นหนึ่งน่ะ  เวลาเราลงสีเข้มเสร็จแล้ว มาลงสีอ่อนลงไป แล้วถ้าเราจะทำสีเข้มลงไปอีก มันเหมือนกับผิวจะฝังสีลงไปน่ะ เหมือนกับว่า ถ้าเราสักสีดำ แล้วก็สักสีขาวจนเสร็จแล้ว แต่ปรากฏว่า สีดำเรายังถมไม่สนิท แล้วพอเรามาเก็บอีกครั้งหนึ่งน่ะ เวลาเราเช็ดสีดำไปโดนสีขาวที่ลงไว้น่ะ สีขาวก็จะกลายเป็นสีขาวแบบกระดำกระด่าง แต่ไม่ได้แปลว่า เวลาลอกออกมาแล้วสีจะตุ่นนะ แต่สีที่เข้มกว่าจะติดหน้าผิว ทำให้ดูหมองๆ ไม่สวย แต่ถ้าเราวางแผนดีๆ น่ะ เราไม่ต้องกลับมาเก็บงานตรงนี้อีก รอยสักก็จะดูเคลียร์ ดูสะอาด”

การทำงานกับสีที่ยากจะลบเลือนได้หากเกิดข้อผิดพลาด มีข้อจำกัดอย่างไรอีกบ้าง ช่างออมอธิบายว่า ในแง่ของความสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ นั้นไม่มีข้อจำกัด แล้วแต่จินตนาการ และความพึงพอใจส่วนบุคคลเสียมากกว่า
“เรื่องจำนวนสีเราไม่ได้จำกัด แต่บางทีถ้าใช้สีเยอะมากๆ มันก็จะดูเอิงเอยน่ะ เราควรจะวางสีให้เหมาะสมกับดีไซน์ สมมติ ลายที่มีดีเทลไม่มาก แล้วเราวางแม่สีเอาไว้ อาจจะมีสีคู่ตรงข้ามบ้างนิดหน่อย หรือเอนไปทางสีตุ่นเข้ามาบ้าง หรือสีพาสเทลเข้ามาบ้าง แต่ไม่ใช่เอาทุกอย่างมารวมกัน มันจะดูไม่มีจุดเด่น จุดรอง”

งานสักส่วนใหญ่แล้ว หากลูกค้ามีความต้องการชัดเจนช่างย่อมมีหน้าที่ถ่ายทอดภาพในฝันให้สำเร็จ แต่ช่างสักที่มองงานขาดย่อมสามารถให้คำแนะนำที่ช่วยยกระดับให้งานออกมามีคุณภาพยิ่งขึ้นได้
“ถ้าเขาสเก็ตช์มาเอง แล้วเราคิดว่า มันสวยแล้ว เราก็สักได้ตามที่เขาสเก็ตช์เลย อาจจะมีแนะนำเรื่องสีนิดหน่อยหน้างานว่า ถ้าเป็นสีนี้อยู่ใกล้กับสีนี้เวลาสักจริงๆ มันจะมืดนะ หรือสีนี้ในกระดาษมันดูอ่อน พอสักลงบนผิวคนจริงๆ มันน่าจะออกมาอ่อนกว่านี้อีก อาจต้องปรับเข้มขึ้นหน้างานหรือเปล่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสีผิวด้วย

…ส่วนใหญ่ลูกค้าออมถ้าเขารู้ว่า ผิวเขาสีเข้มอยู่แล้ว เขาก็ไม่เลือกสักสีอยู่แล้ว แต่ก็อาจจะดูหน้างานว่า บางทีแบบเป็นสีชมพูอ่อน เราก็ปรับให้เป็นสีแดงไปเลยไหม เพื่อให้มันยังสดอยู่ เพราะเนื้อสีสักไม่ได้เป็นแป้งขนาดที่วางอยู่แล้วมันจะอยู่ข้างบนชั้นผิว มันจะซึมไปอยู่ข้างล่าง แล้วมีหนังกำพร้ามาอยู่อีกชั้นหนึ่งน่ะ สีที่ลงจึงอาจจะดร็อปลงไปได้

…แล้วอีกอย่างรอยสักเวลาลอกไปแล้ว เส้นจะใหญ่ขึ้นนิดหนึ่ง บวกกับระยะเวลาที่ผ่านไปมันจะทำให้รอยสักไม่คม หรือสีจางลงได้ด้วยด้วย ออมก็เลยคิดว่า เราไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องไปใส่ดีเทลให้เหมือนจริง 100% เพราะว่าเวลาลอกไปน่ะ มันจะกลืนกัน ออมก็เลยชอบตัดทอนลายเส้นจนกลายเป็นสไตล์แบบที่เราถนัดขึ้นมา ออมรู้สึกว่า ถ้าเป็นเส้นหนาๆ ไปเลยในอนาคตมันเห็นชัดกว่าเส้นเล็ก เพราะพอนานไปเส้นจะใหญ่ขึ้น แล้วไปบวกกับรายละเอียดที่เบียดกันมากๆ ตรงที่เราเห็นเป็นช่องว่างในวันนี้ ในอนาคตจะกลายเป็นลายดำปื้นเลย งานสักที่มันไม่มี space เลยน่ะจึงส่งผลลัพธ์ในอนาคตที่ไม่โอเค”

ดังนั้น ถ้าอยากได้รอยสักที่สวยทนสวยนานฟังคำแนะนำจากช่างมืออาชีพจึงเป็นการดีที่สุด
“สำหรับการสักสีโดยปกติแล้วแนะนำให้รักษาให้ดีๆ ระหว่างช่วงที่กำลังตกสะเก็ด ถ้าตรงนี้รอดแล้ว แผลหาย 100% แล้วที่เหลือก็คือธรรมชาติของผิวหนังแล้ว มันก็จะติดตัวแบบนั้นไปตลอด แต่มันจะดร็อปลงสัก 10% แต่ในบางเคสคนผิวเข้มบางคนออมสักไปประมาณสี่ปีที่แล้ว แล้ว แต่สีเขายังสวยอยู่เลย เขาบอกว่า เขาทาโลชั่นบำรุงผิวทุกวัน แล้วก็ไม่ตากแดด

…ส่วนเรื่องถ้าน้ำหนักขึ้นแล้วรอยสักจะเสียไหม ออมว่า มันเสียด้วยเนื้อผิวที่แตกไปแล้ว รักษาไม่ได้ ทำให้เกิดรอยย่น แล้วถ้าสักเป็นรูปที่มันไม่ได้สมมาตร หรือรูปฟรีฟอร์มน่ะไม่เป็นไร แต่ถ้าสักเป็นรูปสี่เหลี่ยมเท่าๆ กันบริเวณที่ไขมันสะสม ผิวหนังขยายง่ายลายอาจจะโย้ได้”

เมื่อผิวหนังที่ขยายขนาดตามน้ำหนักตัว ตึงหรือหย่อนลงได้ตามกาลเวลา จุดไหนบนร่างกายที่สักแล้วอยู่กับเราได้นาน หรือเป็นที่นิยมในการประทับรอยหมึกเอาไว้ ช่างออมเผยว่า
“เคสที่ออมเจอบ่อยๆ จะมาสักแขน หลังแขน แล้วก็สีข้าง แต่ผู้หญิงเวลาสักอะไรเล็กๆ จะชอบสักตามหน้าอก ใต้บรา เอว บิกินี่ นิ้วก็ฮิต แต่ที่ร้านไม่ค่อยรับ เนื่องจากว่า ชั้นผิวหนังตรงนิ้วมันไม่เหมือนผิวตรงอื่น หนังกำพร้าด้านบนมันหนากว่าทำให้สักไม่ค่อยติด แล้วต่อมเหงื่อบริเวณนี้ก็เยอะด้วย มันเลยทำให้รอยสักเวลาลอกมาได้ผลไม่ค่อย 100% แล้วสักตรงนิ้วนี่เจ็บจนน้ำตาไหลเลย แถมยังต้องมาเติมหลายรอบด้วย ซึ่งร้านสักทุกร้านเขาไม่ชอบการซ้ำบ่อยๆ หรอก เขาก็อยากจะสักครั้งหนึ่งแล้วก็จบ เขาก็เลยไม่ค่อยรับกัน”

หลังจากทำงานทำงานอยู่กับสีสันมานานพอสมควร ทุกวันนี้เธอยกให้สีไหนเป็นสีแทนตัว หรือสีไหนที่ไม่ถูกชะตาเอาเสียเลย คำถามนี้คนที่ทำงานกับสีมานานมักจะใช้ความคิดนานพอดู
“เลือกยาก บางทีก็ชอบสีชมพู พวกแอ็กเซสซอรี่ต่างๆ จะชอบซื้อสีชมพู แต่ถ้าเป็นเฟอร์นิเจอร์จะชอบสีแดง มันแล้วแต่สิ่งของที่เราเลือกค่ะ หรือบางทีก็ชอบน้ำเงิน ออมว่า ออมชอบแม่สีแหละ อ้อ…แล้วก็สีดำ เคยชอบสีดำอยู่พักหนึ่ง

…แต่ถ้าเป็นสีสัก ออมจะไม่ชอบสีม่วง เพราะสักออกมาแล้วมันไม่ม่วง ออกเป็นสีดำๆ ตุ่น ๆ ต่อให้คนขาวสักสีม่วง เวลาสักออกมาก็มักจะเป็นม่วงแบบช้ำน่ะ ออมก็เลยจะไม่ออกแบบลายที่เป็นสีม่วงเข้าไป”

ด้วยความที่รอยสักทุกวันนี้เริ่มกลายเป็นงานศิลปะที่หลายคนอยากได้มาประดับบนผิวกาย คนเปิดรับศิลปะบนผิวหนังมากขึ้น ในฐานะช่างสักมืออาชีพคนหนึ่งเธอมองว่า ทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับรอยสักเริ่มพลิกกลับมาเป็นเชิงบวกมากขึ้นหรือไม่ ช่างออมให้ความเห็นว่า
“ทุกวันนี้คนมองคนที่มีรอยสักในแง่ลบก็ยังมีอยู่ แต่จริงๆ แล้วเรื่องนิสัยส่วนตัวมันเรื่องของเขา ต่อให้เขาสักหรือไม่สัก คนไม่ดีก็คือคนไม่ดีอยู่ดี วาทกรรมที่ว่า มีรอยสักแล้วเป็นคนไม่ดี มันเอาท์มากๆ แล้ว  

…แล้วด้วยความที่ออมไม่เคยทำงานกับองค์กรที่มีข้อห้ามเรื่องรอยสัก ออมเลยไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาถึงไม่ให้คนมีรอยสัก แต่ลูกค้าออมน่ะ เป็นทหาร เป็นตำรวจ เป็นหมอ มีมาสักตลอดนะ บางคนเขามาสักในบริเวณที่ชุดยูนิฟอร์มสามารถปิดได้น่ะ 

…แต่ออมว่า สื่อมีผลต่อทัศนคติในเรื่องนี้มากๆ ยิ่งสื่อทำให้เห็นว่า ดาราเขาสักกันเยอะๆ ก็ยังมาออกทีวีได้ หรือทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับสังคมได้อยู่ ทัศนคติในเชิงลบก็น่าจะค่อยๆ ถูกกลืนกินไปเอง เราอาจจะไม่ต้องมาเรียกร้องอะไร แต่ต้องใช้เวลา ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ไปเองมากกว่า”

ในอนาคตเทรนด์การสักจะล้ำไปได้อีกแค่ไหนกัน ช่างออมเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น พร้อมเปิดอินสตาแกรมให้ดูว่า ทุกวันนี้การสักไปไกลกว่าที่เราคาดคิด เพราะมันกลายเป็นงาน performance ที่ศิลปินเลือกจะเล่นกับประสบการณ์การสักแบบสดๆ หรือการทดลองสักในสภาวะที่ทำได้ยากอย่างการสักขณะกำลังเคลื่อนไหว 
“ออมว่า อันนี้ที่สุดตอนนี้แล้ว เรียกว่า เป็นขั้นตอนการสักที่เหมือนทำ performance ระหว่างการสักมากกว่า มีทั้งปั่นจักรยานไปด้วยสักไปด้วย หรือต้องบริจาคแผ่นหลังให้สักเป็นรอยต่อกับเส้นบันไดที่เป็นแบ็คกราวนด์ด้านหลัง ซึ่งออมว่า ตลกดี แต่มันคงไม่ได้เป็นเทรนด์หรอก เพราะคนส่วนมาก ไม่กล้าทำอะไรแบบนี้หรอก (หัวเราะ) 

…แต่สำหรับเทรนด์ในอนาคตน่ะ คิดว่าเป็น คนน่าจะเริ่มชอบสักอะไรที่เป็นงานศิลปะมากขึ้น เป็นงานดีไซน์เฉพาะมากขึ้น อย่างบางคนชอบงานของชอบศิลปินอย่าง Keith Haring หรือชอบงานของศิลปินกราฟฟิตี้คนนี้ก็จะเอามาเป็นรอยสัก

…คนเริ่มใส่ใจลายสักมากขึ้น ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนน่ะ การไปร้านสัก คือ การเปิดสมุดที่อยู่หน้าร้าน แล้วก็จิ้มเลือกลายสัก แต่เดี๋ยวนี้คนเริ่มทำการบ้าน เริ่มมีการออกแบบ มีส่วนน้อยมากที่จะเอาลายนี้ตามแบบเลย แทบจะไม่มีแล้วด้วยซึ่ง เพราะตัวเราเองก็ไม่อยากให้เขาทำอย่างนั้น แล้วเราก็ไม่อยากสักรูปซ้ำด้วยเหมือนกัน”

แพลนต่อไปสำหรับผู้ก่อตั้ง AOMOA Tattoo Studio จึงเริ่มขยับขยายไปสู่การให้ความรู้ในเวิร์กช็อปสอนผู้ที่สนใจในศิลปะงานสัก ที่เริ่มได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ในเรื่องนวัตกรรมลบรอยสัก ซึ่งน่าจะเป็นนวัตกรรมที่ทำให้คนหันมาสนุกกับศิลปะรอยสักมากขึ้น เลือกเติมสีสันบนผิวหนังได้อย่างไร้กังวล ไม่แน่นะ อีกหน่อยเราอาจจะเห็นโลกที่ทุกคนเดินเข้าออกร้านสักกันเป็นว่าเล่น ไม่ต่างจากเดินเข้าไปตัดผมในซาลอนก็เป็นได้

Photography:  SOMKIAT K.

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม