Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

The Vivacious Storyteller

"ศรัณย์ เย็นปัญญา" 56th Studio แนวคิดที่เปลี่ยนไปเมื่องานดีไซน์ถูก disrupt
Interview

     เรารู้จักชื่อเสียงของ 56th Studio สตูดิโอที่ตั้งอยู่ในซอกหลืบเร้นลับในย่านตลาดน้อยผ่านผลงานของศรัณย์ เย็นปัญญา ที่ผ่านตาเราอยู่บ่อยครั้ง ทั้งงานเก้าอี้สตูลสีสดตกแต่งด้วยเสื่อปักลวดลายที่ล้อเลียนมาจากลายโบร่ำโบราณบนสตูลร้านก๋วยเตี๋ยวเก่าแก่ ซึ่งสะดุดตาเราตั้งแต่ Bangkok Design Week เมื่อปีที่แล้ว และงานสร้างชื่อของเขาที่ไปจัดแสดงไกลถึง Design Week ในต่างประเทศ อย่างเก้าอี้ที่สร้างขึ้นจากลังพลาสติก

     ในช่วง Bangkok Design Week ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อเดือนที่แล้ว เราได้ไปนั่งคุยกับเขาในสตูดิโอหน้าตาจัดจ้าน พร้อมรับฟังแนวคิดที่น่าสนใจของเขาว่าด้วยงานดีไซน์ในวันที่อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิม การแสวงหาความหมายภายใต้งานดีไซน์ที่ยังต้องขายได้ และช่วยต่อชีวิตชาวบ้านในชุมชนให้อยู่รอดได้ผ่านงานคราฟต์หน้าตาร่วมสมัย

ลิปส์ : เท่าที่ศึกษาประวัติคุณมา เราพบว่า คุณทำงานมาเยอะมากเลย เอาจริงๆ แล้วคุณเริ่มต้นทำงานตั้งแต่เมื่อไรกัน
ศรัณย์ : หลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปุ๊บผมก็ทำงานเลย บังเอิญว่าได้ทำ ELLE Fashion Week  พอทำเสร็จก็ไปทำงานโรงงานผ้าอยู่หนึ่งเดือน แล้วก็ทนนั่งพันด้ายไม่ไหว เพราะเขาไม่ได้ให้ทำอะไร เราก็รู้สึกว่ามันไม่ stimulate สติปัญญาเลย เลยพยายามหาลู่ทางไปทำงานเป็นฟรีแลนซ์ทางด้านแฟชั่นดีไซน์อยู่นิดหน่อย แล้วก็ไปเรียนต่อ ตอนนั้นไปเรียนต่อ MBA ที่นิวยอร์กก่อน แล้วพอดีได้ทุนที่สวีเดนก็เลยรีบย้ายไปเรียนด้านStorytelling ที่นั่น

ลิปส์ : จากประสบการณ์ที่ทำมา กว่าจะมาเป็น 56th Studio ใช้เวลาหรือต้องใช้อะไรจนกลั่นกรองจนมาเป็นนี่แหละตัวตนของฉัน
ศรัณย์ : จริงๆ ตัวตนของฉัน มันเปลี่ยนตลอด มันเปลี่ยนตามวัย ตามความเชื่อของเรา เราเริ่มต้นจากการทำเฟอร์นิเจอร์ ที่เป็นหน้าตาแบบ boutique ขายราคาแพงๆ ช่วงที่คนรู้จักมากที่สุดน่าจะเป็นช่วงที่เริ่มทำงานให้กับสถานที่และแบรนด์ต่างๆ ทำช่วยตกแต่งให้ collab กับคนนั้นคนนี้ อันนั้นจะเป็นช่วงที่คนเริ่มพูดถึง แต่ว่ายุคนั้น ก็เป็นยุคที่เป็นอดีตของเราไปแล้ว เพราะว่าตอนนี้เรากำลังมองหา meaning ในสิ่งที่เราทำ

     อย่างเมื่อ 2-3 วันมานี้เอง มีเศรษฐีต่างจังหวัดมาบอกว่า “ฉันมีห้างฯ อยู่ เอาเงินไปเท่านี้ ไปเล่นสนุกทำอะไรก็ได้” เราก็ต้องถามกลับไปว่า “อ้าว…แล้ว มัน contribute อะไรให้กับสังคมต่างจังหวัด หรือว่ามันทำให้คุณรวยขึ้นอย่างเดียวหรือเปล่า มัน meaningful ไหม มันไปเปลี่ยนชีวิตใครหรือเปล่า” เรารู้สึกว่า ช่วงหลังๆ ด้วยความที่เราแก่ขึ้นเราก็เลยอยากจะเลือกทำงานที่มันมีความหมายสำหรับเราอย่างน้อย เพราะไม่อย่างนั้นเราก็ไม่รู้จะทำไปทำไม โจทย์ในการทำงานมันเปลี่ยนไปจริงๆ เราคิดว่า ธุรกิจต้องอยู่รอด หรือธุรกิจที่เราช่วยเขา เขาจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วยวิธีไหน

“ช่วงหลังๆ ด้วยความที่เราแก่ขึ้น
เราก็เลยอยากจะเลือกทำงานที่มันมีความหมายสำหรับเรา
เพราะไม่อย่างนั้นเราก็ไม่รู้จะทำไปทำไม”

     อย่างโรงงานผ้าแบรนด์ One More Thing ที่เราเข้าไปช่วยจนได้เป็นหุ้น เราไปช่วยคิดตั้งแต่ว่า เขามีเครื่องอยู่เท่านี้ เขาทำอะไรกับสิ่งที่มันทำมาตลอด 30 ปี มันจะเปลี่ยนธุรกิจเขาได้ยังไง เขาจะกระโดดเข้ามาในเวทีไหน งานดีไซน์ คาแร็กเตอร์จะเป็นยังไง วิธีนำเสนอ หรือแม้กระทั่งวิธีการดำเนินกลยุทธ์ในเชิงธุรกิจ แล้วพอเราแคร์กับเงินของเขามากๆ แคร์กับสิ่งที่เขาทำมากๆ เขาก็อภิเชษฐ์ในสิ่งที่เราทำให้เขา

     เดิมเขาเป็นผู้รับจ้างผลิต เครื่องของเขาทำสิ่งเดิมๆ มาตลอด แล้วก็ตัวลักษณะมันคืองานทอ เป็นงานทอ แต่ว่าเส้นใยที่ใช้ทอก็แล้วแต่ว่า เราจะพุ่งเส้นใยอะไรเข้าไป ตอนนี้ผ้าที่ออกมาจากเครื่อง มันเปลี่ยนหน้าตาไป และไม่ใช่หน้าตาอย่างเดียว เปลี่ยนเส้นใย เปลี่ยนวิธีการนำไปใช้ แล้วพนักงานของเขาก็งงกับผมมาอยู่ประมาณปีหนึ่งว่าทำบ้าอะไร จนกระทั่งวันที่เขาเห็นผ้าสำเร็จ ทุกคนยิ้ม ปลื้มปริ่มแล้วก็มาช่วยกันทำนู่นทำนี่

“การไป Design Week ในต่างประเทศ
รายละเอียด ความเนี้ยบ หรือเซอร์วิส ทุกอย่างต้องพร้อม
ต้องมีความแตกต่าง เราเป็นแบรนด์จากเมืองไทยน่ะ
แล้วถ้าเราไปอยู่ใน global scale
แล้วเราไม่มีจุดที่ไปแข่งขันกับเขาได้ มันก็ไม่ competitive”

ลิปส์ : ผ่านการเอางานไปโชว์ใน Design Week ในต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง ต้องทำอย่างไรถึงจะได้ไปสู่จุดนั้นได้
ศรัณย์ : หนึ่งก็คือต้องรู้จัก curator แต่ว่ามันก็ใช้วิธีการ reach out นะครับ คือ เราจะรู้จาก organizer หลายๆ คน แต่ organizer เขาจะมีคาแร็กเตอร์ในการเลือกของไม่เหมือนกัน ถ้าของเราเรามองว่าเหมาะกับเจ้านี้ เราก็ต้อง approach เจ้านี้ แล้วก็ไม่ไปคุยกับเจ้าอื่น เพราะว่ามันก็เป็นมารยาทในเชิงหนึ่ง หรือถ้ามีเงิน ก็ซื้อที่ก็ได้แต่ก็จะแพงมากที่สุดในโลก
     แต่การไปอยู่ตรงนั้นรายละเอียด ความเนี้ยบ หรือเซอร์วิส ทุกอย่างต้องพร้อม ต้องมีความแตกต่าง เราเป็นแบรนด์จากเมืองไทยน่ะ แล้วถ้าเราไปอยู่ใน global scale แล้วเราไม่มีจุดที่ไปแข่งขันกับเขาได้ มันก็ไม่ competitive เครื่องเคราเขาก็มี ดีไซน์เขาก็ดีกว่าหรือเปล่า แล้วเราจะไปสู้ตรงไหน อันนี้คือการบ้านที่ผมว่า ผมยังไม่ค่อยเห็นแบรนด์ไทยไปแล้วเกิดเท่าไรนะ พูดตรงๆ

ลิปส์ : ทุกวันนี้คุณยังจำเป็นต้องไปแสดงงานใน Design Week ต่างประเทศอยู่ไหม
ศรัณย์ : ก็พยายามจะไปถี่น้อยลง เพราะจริงๆ แล้ว เศรษฐกิจของโลกก็ไม่ได้ดี ยอดเทรดโชว์ก็ตก การเช่าบูธน้อยลงเยอะ เมื่อเทียบกับเมื่อยุคก่อนอินเตอร์เน็ต ในแง่การซื้อขาย buyer สมัยนี้ไม่ต้องถ่อไปซื้อแล้วไง ไม่ต้องแลกนามบัตรแล้ว เพราะสั่งออนไลน์ได้เลย แล้ว Alibaba ก็พร้อมส่งทุกสิ่งทุกอย่าง

ลิปส์ : แสดงว่า งานดีไซน์ก็ยังถูก disrupt ได้ว่าอย่างนั้นเถอะ
ศรัณย์ : ใช่ครับ เพราะว่ามันคือ การสร้างประสบการณ์ทั้งสิ่งแวดล้อม กลิ่น เสียง อย่างสตูดิโอแห่งนี้ก่อนที่จะเดินเข้ามาเจอสถานที่ มันต้องเดินผ่านซอกเข้ามา มันคือ ประสบการณ์ทั้งหมดที่บ่งบอกตัวตนของแบรนด์ล้วนๆ เลย แต่ผมยังเชื่อในประสบการณ์ออฟไลน์นะ แต่ผมไม่รู้ว่า มีคนเชื่อกับผมเยอะมากแค่ไหน
     อาจจะเป็นมุมมองส่วนตัวว่า ทุกอย่างที่ทำมันก็ควรจะมี meaning อย่างงานคราฟต์ของแบรนด์ Citizen of Nowhereที่วางอยู่ชั้นล่างของสตูดิโอเนี่ย เราพยายามสต็อก พยายามทำด้วย budget ที่เรามี

“บริษัทเราทำดีไซน์เซอร์วิสก็จริง
แต่ว่ากำไรเอามาถมกับการช่วยชาวบ้าน
ซื้องานหัตถกรรมเอามาบอมบ์ เอามาดัดแปลงให้เกิดสิ่งใหม่
ซึ่งก็เป็นเรื่องไม่ค่อย make sense เท่าไรในมุมมองเชิงธุรกิจ”

     เดี๋ยวนี้ลูกค้าเริ่ม expand ไปอยู่ตะเข็บประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนาม ดีไซเนอร์เขาเก่งมาก งานคราฟท์ก็ดี แล้วค่า GDP ก็สูงกว่าเราสามเท่า ผมก็เลยมองว่า ถ้าเรามัวพูดเรื่องความเป็นไทยกันอยู่ มันก็จะโดนแซง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง อย่างงานหัตถกรรม เราจะทำอย่างไรให้ sustain ให้แตกต่างจาก craft scene อื่นๆ และมันต้องทำไปได้ยาวๆ ด้วย ไม่อยากทำโปรเจ็กต์ที่เป็น exhibit แล้วก็จบ หายไป อันนั้นคือสิ่งที่เห็นบ่อยในงานหัตถกรรม

ลิปส์ : แล้วเราควรทำอย่างไรกันดี จัดงาน Design Weekให้บ่อยขึ้นช่วยได้ไหม
ศรัณย์ : ทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดเงินหมุนเวียนในแบบที่ยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำต้องได้ประโยชน์พร้อมๆ กันหมด ไม่ใช่ว่าไปซื้อของชาวบ้านเขาทีเดียว แล้วไม่ได้เจอกันอีกเลยเป็นปี เราอาจจะซื้อน้อยแต่ว่าซื้อถี่ แต่ว่าเขาก็ต้องมี development ใหม่ๆ มาตลอด แล้วเราจะมีความสัมพันธ์กับช่างที่โยงใยกันเป็นระบบผลิตด้วยกันน่ะครับ ในขณะเดียวกัน “ปลายน้ำ” หรือว่า “retail” ก็ไม่ใช่ว่าเราปฏิเสธห้างฯ เราก็ชอบ เพราะ traffic ของเขาดีกว่า การที่เราวางขายโปรดักต์ของเราอยู่ในซอยอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าสิ่งที่เราจะสร้างร่วมกัน มันน่าจะเป็นประสบการณ์มากกว่าเอาของไปวางไว้ แล้วก็รอหักค่า GP 30%

 ลิปส์ : ทุกวันนี้องคาพยพของ 56th Studio ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
ศรัณย์ : เวลาเราเลือกคนมาร่วมทีม เรามองสกิลก่อน แล้วนอกเหนือจากนั้นก็คือความเชื่อว่า เขาอยากทำอะไรกับชีวิตของการเป็นนักสร้างสรรค์ ที่นี่ทุกคนจะมีความเป็นลูกผสมหมดครับ บางคนเป็นช่างสัก แต่ว่าทำงานประสานงาน บางคนก็เป็น illustrator บางคนก็เป็นดีเจ ทุกคนก็จะมีสิ่งที่เรามองว่าน่าสนใจในตัว แต่เราก็เป็นแค่บันไดให้เขาไปถึงจุดที่เขาอยากจะไปได้ ผมไม่ได้เชื่อว่า จะมีใครอยู่กับผมยาว มันไม่ใช่ ownership น่ะ มันเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน ผมจะอภิเชษฐ์มาก ถ้าผมเจอน้องๆ ซึ่งสามารถให้มุมมองใหม่ผมได้ด้วย เพราะว่าผมก็เริ่มแก่แล้วเนอะ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องไม่ไปบงการเขาว่า ต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้เท่านั้น พยายามจะไม่ไป micro manage ว่าคุณต้องทำตามขั้นตอน A B C D E ตราบใดที่ผลลัพธ์มันโอเค
     และผมไม่เชื่อเรื่องค่าย เรื่องของการมีพรรคพวก เป็นมาเฟียในอุตสาหกรรมออกแบบ มันจะมีคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แก๊งนั้นแก๊งนี้ ผมไม่เชื่อเรื่องแบบนั้น ผมเชื่อว่าผมอยู่ของผม ผมแค่ทำในสิ่งที่ผมชอบ ถ้าเขาเกลียดผม รักผมไม่ใช่เรื่องสำคัญ ผมคิดว่าทุกคนที่เข้ามาตรงนี้ ไม่ได้มีค่าย คือมาด้วย passion สำหรับงานจริงๆ

ลิปส์ : สมัยนี้ไม่ใช่เฉพาะอุตสาหกรรมออกแบบหรอก อุตสาหกรรมไหนก็เป็นเรื่องของพรรคพวกทั้งนั้นจริงไหม
ศรัณย์ : ซึ่งไม่สนุกเท่าไร ในความรู้สึกเรา เรารู้สึกว่า อุตสาหกรรมมันจะเคลื่อนไปข้างหน้าได้ มันต้องเคลื่อนไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่า กูเก๋อยู่คนเดียว มันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น Design Week เป็นตัวอย่างที่ดีว่า มันมีหลายๆ approach มันไม่ได้มีศรัณย์ เย็นปัญญา คนเดียว มันมีอีกตั้งหลายแบบ มีแบรนด์เล็กๆ มีดีไซเนอร์แก๊งอื่นที่เขาเชื่อในความงามแบบอื่น หรือเชื่อในวิธีการแบบอื่น ซึ่งมันเป็นสิ่งที่สวยงามในความรู้สึกผม

“จริงๆ การเป็นนักออกแบบดาวรุ่งพุ่งแรง มันเป็นไม่ยาก
เพราะโลกนี้มันมีอินสตาแกรม มันมี follower
มันมีinfluencer ถ้าคุณหน้าตาดี คุณวาดรูปน่ารัก
มันก็เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพียงแต่ว่าคุณจะอยู่แล้วสามารถยืนระยะได้ยาวไหม มันยากนะ”

ลิปส์ : อย่างที่บอกว่าตอนต้นว่า ทุกวันนี้คุณพยายามค้นหา หรือทำอะไรที่ meaningful มากขึ้น เป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดที่คุณน่าจะไปถึงน่าจะเป็น…
ศรัณย์ : อยากจะให้รู้สึกว่า มันมี legacy มี footprint ของศรัณย์ เย็นปัญญา ถ้าวันข้างหน้าศรัณย์ไม่อยู่แล้ว หรือเลิกเป็นนักออกแบบ หรือว่าตายไปแล้ว อะไรก็แล้วแต่ มันจะมีเด็กรุ่นใหม่ที่เขาอาจจะไปพลิกดูนิตยสารลิปส์ แล้วไปเจอบทสัมภาษณ์เก่าๆ แล้วรู้สึกว่า คนนี้มันมีวิธีคิดที่ inspiring จัง แค่นี้เอง นี่คือ legacy หรือ footprint สำหรับผมแล้ว เรื่องงานของผมเขาอาจจะไม่ได้จำหรอก เพราะ 50 ปีข้างหน้ามันก็เชยแล้วน่ะ แต่ทำอย่างไรให้มันทิ้งร่องรอยของความคิด ของการกล้าที่จะลุกขึ้นมาdisrupt 
     คนในยุคเก่าที่ผมชื่นชมยังมีอีกหลายคนมากเลย อย่าง อาจารย์เอนก นาวิกมูล ซึ่งก็ยังมีชีวิตอยู่ อาจารย์แกก็เก็บสะสมความเป็นไทย แล้วผมรู้สึกว่า แกมี museum ที่บ้าน แล้วของที่แกสะสมไว้ ทุกครั้งที่เข้าไปดูก็รู้สึกทึ่ง หรืออย่าง ป้าแสงดา ที่ย้อมคราม ย้อมสีธรรมชาติที่เชียงใหม่ ผมไปตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่แกยังมีชีวิตอยู่ ตอนนี้แกเสียไปแล้วเนี่ย ทุกครั้งที่เข้าไป มันเป็น universe ของเขาซึ่งมันคนละโลกกับผมเลยนะครับ แต่ aesthetic ที่เขานำเสนอ วิธีนำเสนอภาพ โปรดักต์ของเขาก็เรียบๆ ง่ายๆ มีความ classy แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่เรา inspire ทุกครั้งที่เราเข้าไปอยู่ในโลกของเขา ซึ่งทุกวันนี้เราหาคนแบบนี้ได้น้อย

ลิปส์ : สมัยนี้นักออกแบบรุ่นใหม่ๆ ใจร้อนเรื่องการประสบความสำเร็จกันเร็วมากขึ้นด้วยหรือเปล่า ทำให้ไม่ยั่งยืนเท่าที่ควร
ศรัณย์ : ผมบอกน้องๆ เสมอว่า จริงๆ การเป็นนักออกแบบดาวรุ่งพุ่งแรง มันเป็นไม่ยาก เพราะโลกนี้มันมีอินสตาแกรม มันมี follower มันมี influencer ถ้าคุณหน้าตาดี คุณวาดรูปน่ารัก มันก็เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพียงแต่ว่าคุณจะอยู่แล้วสามารถยืนระยะได้ยาวมันยากนะ คุณต้องพัฒนาตลอด ถ้าคุณวาดแบบเดิมอยู่แล้วทุกแบรนด์ใช้คุณหมดแล้ว ทุกห้างฯ ใช้คุณหมดแล้ว แล้วคุณจะยอมเป็นน้ำพริกถ้วยเก่าเหรอ คุณก็ต้องพัฒนาตัวเองต่อไป
     แต่สมัยนี้ก็เป็นยุคอินสตาแกรมน่ะนะ ลองสังเกตดูก็ได้ว่า ดีไซน์เนอร์เก่งๆ เจ๋งๆ บางทียอด follower น้อยกว่าเน็ตไอดอลขายเวย์โปรตีน ขายฮอร์โมน ขายยากลูต้าเสียอีก ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไร เพียงแต่ว่าถ้าคุณแฮ็กระบบสิ่งเหล่านี้ได้ ผมว่ามันน่าสนใจ ที่คุณสามารถเป็นทั้งนักออกแบบหน้าตาดี แล้วก็มี respectable ในเชิงงาน creativity ได้ด้วย

│Photography : Somkiat K.

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม