Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

WHAT WOMEN REALLY WANT

พลังจากแฮชแท็ก # ที่พร้อมจะเปลี่ยนโลก
Interview
ซินดี้-สิรินยา บิชอพ

จากความหงุดหงิดคับข้องใจส่วนตัวเกี่ยวการด่วนตัดสินผู้หญิงจากการแต่งตัว “ล่อแหลม” “เกินงาม” จนบางคนหาว่า เป็นต้นเหตุของอาชญากรรม ทำให้ซูเปอร์โมเดลสุดสตรองอย่าง ซินดี้-สิรินยา บิชอพ ต้องระบายออกผ่าน #DontTellMeHowtoDress ที่กลายเป็นกระแสไวรัลลุกลามไปยังสื่อกระแสหลักทั้งในไทยรวมถึงสำนักข่าวสากลอย่าง BBC, Reuters และ TIMES ขยายต่อยอดออกมาเป็นงานนิทรรศการภาพถ่ายที่คนระดับแถวหน้าในแวดวงแฟชั่นพร้อมใจกันเข้าร่วมสื่อสาร message ให้ขยายวงกว้างออกไปไกลเกินคาด #DontTellMeHowtoDressจึงไม่เพียงแต่เป็นแฮชแท็กที่เป็นกระแสติดเทรนด์ชั่วข้ามคืนแล้วก็จางหาย เพราะแฮชแท็กนี้ได้กลายเป็นตัวตนของซูเปอร์โมเดลที่ขอเป็นกระบอกเสียงแทนผู้หญิงที่จำยอมต้องถูกตัดสินจากตัวตน และเสื้อผ้าที่เธอเลือกสวมใส่

“ทุกอย่างมาจากอารมณ์ชั่ววูบ มันมาจากการที่เราเจออ่านพาดหัวข่าวแล้วรู้สึกว่า ไม่ใช่มั้ง อย่าแค่มาควบคุมการแต่งกายของผู้หญิง แล้วยังไม่พูดถึงมาตรการความปลอดภัยอื่นๆ หรือว่ามีการตักเตือนฝ่ายผู้ชาย แล้วเมื่อไรถึงจะแก้ปัญหาได้จริงๆ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้มันมาจากความคิดชายเป็นใหญ่ เรื่องแบบนี้บางทีมันเกิดในครอบครัว เกิดจากการที่อีกฝ่ายมีอำนาจเหนือกว่า”

“เราแฮปปี้ที่จะทำเพราะเราเข้าใจว่า เสียงของเรามีพลัง แล้วพอคนได้ยินเราพูด เราสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ผู้หญิงคนหนึ่งฟังเราพูด แล้วเขาอาจจะรู้สึกมั่นใจมากขึ้น กล้าที่จะแสดงออกหรือกล้าที่จะแชร์เรื่องราวของเธอ เราทำตรงนี้จริง สื่อสนใจสิ่งที่เราพูดมันจึงเหมือนกลายเป็นหน้าที่ของซินดี้ไปแล้ว”

แรงกระเพื่อมของแฮชแท็กที่แชร์ออกไปจึงกลายเป็นหน้าที่ที่เหมือนลิขิตมาแล้วว่า ต้องผลักดันให้ถึงฝั่งฝัน จากนางแบบนักแสดงที่เคยแสดงไปตามบท วันนี้เธอจึงกลายเป็น activist โดยสมบูรณ์

“ซินดี้มาไกลมาก ทุกวันนี้ต้องรีเสิร์ช ต้องอ่านงานวิจัยแทบทุกวัน เพราะเราไปพาร์ทเนอร์กับ UN Women เราต้องอ่านงานวิจัยอะไรของเขาหมดเลย เพื่อที่เวลาเราพูดอะไรออกไป มันต้อง base on facts ซึ่งสำคัญมาก”

…เรื่องนี้มันเหนื่อยนะ เรากำลังต่อสู้กับความคิดที่มันถูกปลูกฝังอยู่ในหลายๆ เจเนอเรชั่นจนถึงทุกวันนี้ ทุกวันนี้ยังมีคนด่าเลยว่า นางแบบแต่งตัวโป๊เป็นเรื่องธรรมดา ไม่เข้าใจหรอก ผู้หญิงไทยเขาแต่งตัวแบบไหน”

เวลาปีกว่าๆ ที่แบ่งเวลามาขับเคลื่อนเพื่อผู้หญิงอะไรคือสิ่งที่ผู้หญิงกล้าคนนี้ได้เรียนรู้บ้าง เรานึกสงสัย เธอใช้เวลาไม่นานนักในการนึกทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา

“เรียนรู้เลยว่า เราต้องกลับไปสู่การศึกษา เพราะเราจะมาแก้ปลายทาง เราจะมาแก้ตอนที่ผู้หญิงโดนข่มขืนแล้วค่อยให้เขาช่วย หรือแก้ด้วยการเอาผู้คุกคามเข้าคุกแล้วมันเหนื่อย แถมยังไม่ยั่งยืน เราต้องปลูกฝังเด็ก เยาวชนตั้งแต่เขาเริ่มรู้เรื่อง ต้องให้คุณพ่อคุณแม่มีส่วนในการสอนลูกเรื่องเพศตั้งแต่เขาอายุ 3-4 ขวบ คุยกับลูกตั้งแต่เนิ่นๆ อย่าคิดว่า มันเป็นเรื่องอับอาย น่าเกลียด ไม่ควรแตะต้อง

…เด็กมักจะมีคำถามเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องเพศมันไม่ใช่แค่การมีเพศสัมพันธ์ เรื่องเพศมันคือทุกสิ่งที่เกี่ยวกับร่ายกายของเรา เกี่ยวกับ gender เกี่ยวกับการทรีทคนอื่น เกี่ยวกับอวัยวะเพศมีชื่อที่ถูกต้องอะไรอย่างไรบ้าง ควรสอนให้เด็กเรียกให้ถูกต้อง ไม่ใช่ไปเรียก “ช้างน้ง ช้างน้อย” อะไรอย่างนี้ มันไม่ใช่เรื่องขำ เป็นเรื่องธรรมชาติ

…เพศวิถีศึกษาต้องเริ่มสอนกันตั้งแต่ชั้นประถม แต่ตอนนี้บ้านเราสอนกันตอนไหนล่ะ อาจจะเริ่มสอนในช่วงวัยรุ่นไปซึ่งมันสายไปแล้ว เอาจริงๆนะ เด็กสมัยนี้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตเร็วมาก 6 ขวบรู้เรื่องแล้ว แล้วเขาไม่ได้รู้จากพ่อแม่ เขาไม่ได้รู้จากคุณครู เขารู้จากไหน มันน่ากลัวกว่าไหม สิ่งที่เขาเจอตรงนั้น เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก ทำให้เขารู้สึกปลอดภัยที่จะกลับมาคุยกับเราเรื่องนี้”

“ที่บ้านซินดี้จะสอนแม่บ้านเลยว่า ถ้าลูกชายซินดี้ร้องไห้ก็ปล่อยให้เขาร้องไป เพราะว่าเขาเจ็บอยู่ไม่ใช่ไปบอกว่าผู้ชายต้องเก่ง ต้องแมน ต้องไม่ร้องไห้”

ไม่เพียงแต่ปลูกฝังลูกเรื่องเพศวิถี และความเท่าเทียมทางเพศอยู่เฉพาะในบ้าน แต่คุณแม่ activist คนนี้ยังตั้งใจจะปลูกฝังทัศนคติดังกล่าวให้ครอบครัวอื่นๆ ได้ตระหนักในประเด็นนี้เช่นกัน

“ตอนนี้ซินดี้กำลังเขียนหนังสือเด็กเรื่อง body rights สอนเรื่องส่วนไหนของร่างกายเป็นของหนู และหนูคนเดียว คนอื่นมาจับไม่ได้ ถ้ามีคนมาจับ หรือว่ามีคนมาโชว์รูปของคนโป๊ หรืออยากจะให้หนูไปเล่นเกมที่มันไม่เหมาะสม หนูมีสิทธิ์ที่จะ say “No” หรือวันนี้หนูไม่อยากกอดครอบครัว หมายความว่า หนูไม่อยากจะแสดงความรักหรืออะไรก็แล้วแต่ หนูมีสิทธิ์ทำ เพราะร่างกายของหนูเป็นของหนู”

ฟังดูเหมือนเป็นการเดินทางที่มาไกลจากจุดเริ่มต้นนับพันๆ ไมล์ ซึ่งแน่นอนว่า ต้องเสียทั้งหยาดเหงื่อ และพละกำลังภายในไม่น้อย แต่เธอก็ยอมรับว่า ตั้งแต่ทำโครงการ #DontTellMeHowtoDress มาเธอไม่เคยนึกเสียใจ และมีหลายเหตุการณ์ที่ตอกย้ำว่า เธอตัดสินใจไม่ผิดในการลงแรงขับเคลื่อนในสิ่งที่เชื่อมั่น

“ทุกวันนี้จะมีน้องๆ ผู้หญิง อินบ็อกซ์มา หรือเดินเข้ามาบอกว่า ขอบคุณมากที่ทำสิ่งนี้ เพราะมันทำให้หนูรู้สึก empower มันทำให้หนูออกมาทำอะไรในโปรแกรมในโรงเรียนของหนูเองเยอะมาก บางทีก็มีนักศึกษาเอาแฮชแท็กของซินดี้ไปทำงาน thesis บางทีเขาก็จะส่งคำถามอะไรที่เราสามารถตอบได้มาให้เราตอบ บางทีเราก็ส่งเขาสายนะแต่ก็ส่งให้เขาเอาไปทำงานของเขา เอาไปต่อยอดได้ นี่คือพลังสำหรับซินดี้มากๆ เพราะแสดงว่าเขา take ownership แล้วเขาก็เอาไปใส่ใน community ของเขา นี่คือสิ่งที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้”

หนึ่งในเคสที่อินบ็อกซ์เข้ามาปรึกษา บางเคสก็สั่นสะเทือนอารมณ์ และเป็นปัญหาในสังคมทีหลายคนอาจคาดไม่ถึง ซึ่งซินดี้ก็ยินดีจะช่วยรับฟัง แต่อย่างไรก็ตามเธอย้ำชัดเสมอว่า

“บางทีก็มีอินบ็อกซ์เข้ามาปรึกษา “ทำอย่างไรดี หนูเจอแบบนี้” ซินดี้ก็ต้องบอกเขาก่อนว่า พี่ไม่ใช่ expert ทางด้านนี้ แต่ว่าพี่สามารถติดต่อให้หนูไปคุยกับหน่วยงานนั้นนี้ได้ เพราะพี่ไม่ใช่คนรับเคส ออกตัวก่อนเลยว่า เราไม่สามารถทำตรงนี้ เราไม่มีความรู้ สกิล หรือพลังพอที่จะทำ สิ่งเดียวที่เราทำคือ create awareness สร้างโปรแกรม educate and then connect

….แต่บางทีเขาไม่ต้องการความช่วยเหลืออะไรมากมายหรอก เขาแค่อยากจะบอก อยากจะแชร์ ล่าสุดก็มี high profile case มากๆ อินบ็อกซ์เข้ามา เขาไม่เคยพูดอะไรกับใครเลย เขาแค่อยากจะแชร์กับเรา เพราะคิดว่า เราน่าจะเป็นคนเดียวที่เข้าใจ เขาไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเราก็บอกว่า “ถ้ามีอะไร พี่อยู่ตรงนี้นะ” เขาก็โอเค”

ซินดี้ - สิรินยา บิชอพ

“มายาคติที่ว่า การข่มขืนเกิดขึ้นจาก คนไม่รู้จักน่ะมีน้อยจริงๆ แล้ว 90% ของเหตุการณ์คุกคามทางเพศในประเทศไทย มาจากคนใกล้ชิด”

ส่วนใหญ่ปัญหาที่กระหน่ำเข้ามาอินบ็อกซ์เป็นปัญหาที่เกิดจากคนใกล้ตัวแทบทั้งนั้น เธอกระซิบบอก

“ส่วนมากจะเป็นเด็กวัยรุ่น และส่วนใหญ่เกิดจากแฟนทั้งนั้น ดังนั้น มายาคติที่ว่า การข่มขืนเกิดขึ้นจาก คนไม่รู้จักน่ะมีน้อย จริงๆ แล้ว 90% ของเหตุการณ์คุกคามทางเพศในประเทศไทย มาจากคนใกล้ชิด ไม่แฟนก็คนในครอบครัว หรือคนในชุมชน ซึ่งอยากจะบอกผู้หญิงว่า “You have the rights to say “No” ถึงจะเป็นสามี แต่ถ้าเราไม่ยินยอมก็คือการข่มขืน เขาไม่ได้มีสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของเนื้อตัวร่างกายของคุณ”

ไม่นึกอยากลงสนามการเมืองบ้างหรือ เราถามพร้อมนึกภาพเธอนั่งในสภา

“No ค่ะ มีคนทาบทามมาแล้วนะ แต่คิดว่าเราน่าจะ effective กว่าในบทบาทที่เราทำตอนนี้ การที่เรายังเป็นคนของประชาชน ถ้าเราทิ้งทุกอย่างมาทำอันนี้ก็ไม่ sustain ซินดี้เป็นอาร์ติสต์ ซินดี้ต้องการ freedom รู้ตัวเองเลย ทุกครั้งที่ซินดี้เข้าไปอยู่ในอะไรที่อย่างนี้ เราจะเหี่ยว แล้วเราจะไม่มี spark รู้ตัวเองดีค่ะ บางคนออกแบบมาเพื่อที่จะทำแบบนั้นได้ดี แต่เราไม่ได้แน่นอน และเราก็ไม่ต้องการที่จะไปเป็นแบบนั้น เรามีวิธีที่เราสามารถ effect change จากข้างนอกได้”

“ถ้ามีพรวิเศษที่สามารถเปลี่ยนโลกได้สักหนึ่งอย่าง จะเปลี่ยนอะไรดี” เราพยายามหาทางลัดให้เธอ ทั้งที่รู้ว่าไม่มีอยู่จริง

“เปลี่ยนความคิดชายเป็นใหญ่ ลดมันลงก็ได้ แล้วมันไม่ใช่แค่ผู้ชายพูดกับผู้หญิง ผู้หญิงพูดกับผู้หญิงด้วย บรรดามนุษย์ป้าทั้งหลาย กับคุณแม่ที่สอนลูกว่า ผู้หญิงกล้าแสดงออกไม่ได้นะ ผู้หญิงเถียงสามีไม่ได้ ทัศนคติแบบนี้ก็ต้องเปลี่ยนด้วย

…ผู้หญิงไทยสมัยนี้มั่นใจขึ้นก็จริง แต่เรายังมีความคิดชอบด่าคนอื่น ชอบเม้าธ์คนนู้นคนนี้ ชอบตัดสิน มันเป็นเหมือน nation part time เห็นได้จากแชทกรุ๊ปต่างๆนานา ซึ่งซินดี้มีความรู้สึกว่า ซินดี้ไม่มี เวลามาใส่ใจกับเรื่องไร้สาระอย่างนี้ ผู้หญิงควรจะหันมาสนใจอะไรรอบตัวเราบ้างที่มันมากกว่าแค่ material things”

เธอทิ้งท้ายไว้ให้เพศเดียวกันคิด

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม