Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

‘พิไลวรรณ พิมพ์ภูลาด’ นางแบบสู้ชีวิตที่ฝันอยากปั้นดาวดวงใหม่ประดับรันเวย์โลก

Interview

เท่าที่เราเคยได้รับฟังเรื่องราวของนางแบบโกอินเตอร์ส่วนใหญ่มักจะเป็นการแพ็คกระเป๋าออกเดินทางไปตามหาความฝันยังมหานครแฟชั่นในต่างแดนแต่สำหรับนางแบบสาวเจ้าของลุค exotic ตามแบบฉบับสาวอีสานขนานแท้อย่างโอปอล์-พิไลวรรณพิมพ์ภูลาด  เรื่องราวของเธอแตกต่างจากที่เคยได้ฟังมาจากเด็กต่างจังหวัดสู้ชีวิตที่มีแรงบันดาลใจเป็นยุ้ย-รจนาเพชรกัณหานางแบบรุ่นพี่เจ้าของตำนานนางแบบไทยโกอินเตอร์ผ่านการประกวดจากทั้งเวทีนางแบบและเวทีนางงามแม้จะพลาดหวังจากการเดินสายประกวดแต่โชคชะตาเข้าข้างเธอเมื่อเธอได้งานแคมเปญน้ำหอม David Beckham ที่เผยแพร่ไปทั่วโลกจากการส่งวิดีโอ casting จากเมืองไทยไปยัง casting director ชาวฝรั่งเศสซึ่งทำให้เธอได้แจ้งเกิดในวงการนางแบบในระดับสากลและมีงานหลั่งไหลเข้ามาหาอยู่เรื่อยๆโดยที่ไม่ต้องออกเดินสายไปเคาะประตูตามเอเจนซี่ต่างๆทุกวันนี้เธอยังเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันสอนเดินแบบเพื่อปั้นดาวรุ่งดวงใหม่ให้ได้แจ้งเกิดในยุคที่รันเวย์ในแฟชั่นวีคทั่วโลกเปิดรับความหลากหลายมากกว่าที่เคยเป็นมา 

“โอปอล์เป็นเด็กต่างจังหวัด บ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีค่ะ พ่อแม่โอปอล์ทำอาชีพค้าขายทั่วไป ขายอาหารตามสั่ง ขายก๋วยเตี๋ยว เราก็ช่วยพ่อแม่ทำงานตั้งแต่เด็ก สมัยนั้นเรียนอยู่โรงเรียนหญิงล้วนชื่อโรงเรียนสตรีราชินูทิศ ระหว่างนั้นเวลามีทุนการศึกษาอะไรโอปอล์ก็จะไปขออยู่ตลอด เพราะที่บ้านเราก็ไม่ได้มีรายได้มาซัพพอร์ตอะไรขนาดนั้น เราก็ดิ้นรนมาเรื่อยๆ  ซึ่งตอนอยู่ชั้นประถมเราก็ไม่รู้ว่า เราเรียนดีหรือเปล่า แล้วก็ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าห้องตั้งแต่เด็กๆโอปอลก็เรียนไปด้วย พอถึงวันเสาร์-อาทิตย์ แล้วก็หลังเลิกเรียนก็จะไปช่วยแม่ขายของ

…พอเรียนจบม.ปลายตอนนั้นโรงเรียนมีโครงการธรรมศาสตร์ช้างเผือก ตอนนั้นโอปอล์สอบจะเข้ามหาวิทยาลัยมหาสารคามแล้ว เลือกคณะศึกษาศาสตร์ เอกปฐมวัย แล้วค่ะ เราไม่คิดว่า ตัวเองจะมาเรียนในกรุงเทพฯ แต่เพื่อนที่เขาเห็นเราไม่มีเงินเรียน เขาก็แนะนำมาว่า มีโครงการช้างเผือกชนบทจากธรรมศาสตร์ ให้ลองไปสอบดู โอปอล์ก็เลยลองไปสอบจนกระทั่งเราสอบติดคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยโครงการช้างเผือกนี่แหละ เขารับโควตาทั่วประเทศแค่ 30 คนตอนนั้น เราก็งงว่า เรามากับดวงจริงๆ นะ

“แต่สาเหตุหนึ่งที่เราอยากเรียนนิติฯ เป็นเพราะที่บ้านเราเคยโดนเอาเปรียบ เคยโดนโกงค่ะ ตอนนั้นพ่อไปกู้ธนาคารมาเพื่อมาสร้างบ้านเป็นเงิน 200,000 บาท แล้วเศรษฐกิจไม่ดี ทีนี้คนรู้จักที่เป็นแม่ค้าด้วยกัน เขามาขอยืมเงิน 50,000 บาท เพราะเขารู้ว่า พ่อเราไปกู้ธนาคารมา เขาบอกว่า “เดี๋ยวให้ดอกเบี้ย แต่ไม่ต้องเซ็นสัญญากันเนอะ คนกันเอง เห็นหน้ากันทุกวัน” พ่อก็เลยไว้ใจ ให้ยืมเงินไป” 

…ตอนนั้นเราเด็กๆ เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องไปขอเงินเขาทุกวันๆ บางทีเขาก็ไม่อยากให้ เราไม่รู้ไงว่า เขายืมเงินพ่อเรา จนกระทั่งเราโตมา พ่อเราก็ไม่ไปทวง จนกระทั่งเขาย้ายบ้านหนีไป เงิน 50,000 ที่เขายืมไปเราก็ไม่ได้คืน นี่เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราอยากเรียนกฎหมายค่ะ” 

แต่ดูเหมือนว่า โชคชะตาจะกำหนดมาแล้วว่า เธอจะไม่ได้เป็นทนายสาว เมื่อเธอได้มาเจอกับนางแบบผู้จุดประกายให้เธอเล็งเห็นเส้นทางใหม่

“ตอนนั้นเราเห็นข่าวพี่ยุ้ย-รจนา ที่ออกข่าวหนังสือพิมพ์ ออกข่าวทีวี เราก็เลยคิดว่า พี่เขาเป็นคนอีสานเหมือนกันเลย แต่ตอนนั้นเราแทบจะไม่รู้เรื่องของโมเดล เพราะเราอยู่ต่างจังหวัด เราดูแต่ละครทั่วไป ไม่เคยเห็นว่า คนมีโหนกแก้ม คนผิวแทนได้อยู่บนทีวีในบทตัวหลัก แต่พอมากรุงเทพฯ โลกของเรามันเปิดกว้างขึ้น เราก็เลยเริ่มติดตามพี่เขา ทีแรกเห็นพี่เขาไปแฟชั่นโชว์ เราก็มองอยู่ข้างขอบเวที ไปขอลายเซ็นพี่เขา โอปอลก็เลยเห็นพี่เขาเป็นแรงบันดาลใจ 

…หลังจากนั้นโอปอล์ก็ไปประกวดตามเวทีต่างๆ ถ้าถามว่า เข้ารอบลึกไหม ถ้าเวที Thai Supermodel ก็ไม่ได้เข้ารอบลึกอะไรค่ะ หลังจากนั้นก็ได้ไปประกวดมิสแกรนด์ ได้มีโอกาสไปพูด speech อยู่บนเวที ตอนนั้นเราก็ไม่คิดว่า เราจะเป็นนางงามอะไร แต่มันอยู่ในช่วงที่ค้นหาตัวเอง จนกระทั่งปีต่อมานี่แหละ ตอนนั้นเริ่มมีคนแชร์เรื่องราวของเราไปบ้างแล้ว แล้วพี่โมเดลลิ่งเขาก็เห็นเราจากสื่อ เขาก็เลยติดต่อมาว่า มีแคสต์งานตรงนี้ไปไหม ตอนนั้นเราก็ลำบากมากเลย เราเรียนไป ทำงานเสิร์ฟสุกี้เอ็มเค ทำงานเดินตั๋วหนัง ทำงานอะไรหลายอย่างเหมือนกันค่ะ เราก็เลยลองไปแคสต์ดู” 

นางแบบสาวเล่าว่า คงเป็นเพราะจังหวะลงตัว ประกอบกับรูปลักษณ์ของเธอที่มักจะต้องตาทีมงานต่างชาติทำให้การแคสต์จากระยะไกลผ่านฉลุย จนกระทั่งได้งานพลิกชีวิตอย่างงาน TVC ของน้ำหอมรุ่น Respect แบรนด์ David Beckham งานที่ทั้งสร้างชื่อ และสร้างภาพจำให้สาวหน้าคมสันกรามชัดแบบสาวอีสานบ้านเฮาได้โกอินเตอร์ ได้ร่วมงานกับช่างภาพต่างชาติ และงานอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงการก่อตั้งสถาบันสอนเดินแบบ Respect by Pili ที่เธอหยิบยืมชื่อจากน้ำหอมรุ่นพลิกชีวิตมาเป็นชื่อสถาบัน

“เราก็ทำมาเรื่อยควบคู่กันไปทั้งสองอย่าง ทำงานนางแบบด้วย แล้วก็ทำงานสอนเดินแบบที่สถาบันด้วย แต่ส่วนใหญ่งานนางแบบของโอปอล์ก็จะเป็นงานดีไซเนอร์ของต่างประเทศ ที่เขา direct booking โดยตรงเข้ามา หรือไม่ก็ผ่านเอเจนซี่ที่เราพอรู้จักบ้าง แล้วก็มีทีมที่เขาผ่านวิดีโอคอลค่ะ เวลา casting ตอนนั้น โดยเฉพาะช่วงนี้ค่ะ ก็จะมี video casting เสียส่วนใหญ่ ถ้าสมมติว่า เราคุยวิดีโอผ่านซูมแล้วรู้สึกว่า จริตถูกคอ หรือไลฟ์สไตล์ตรงกัน เราก็จะส่งโปรไฟล์ไปแล้วค่อยบินไปค่ะ แต่ถ้าให้โอปอล์บินไปนู่นแล้วรอแคสต์น่ะ ถ้าสมมติว่า เราไม่มีธุรกิจ ไม่มีงานอะไรที่นี่ เราไปได้เลย แต่พอเราเริ่มตั้งสถาบันมา 5 ปีแล้ว มันจะปลีกตัวไปก็ไม่ได้ไงค่ะ”

นางแบบสัญชาติไทยแท้บอกว่า งานส่วนใหญ่ที่ทำการ booking คิวเธอเข้ามาเป็นงานเกี่ยวกับงานผ้าเส้นใยธรรมชาติ ผ้าทอท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่คงเป็นเพราะลุคที่แสน exotic ของเธอนี่แหละ   

“ถ้าเป็นงานที่ไทยก็มีแคสต์บทแม่ค้าส้มตำ บทสาวโรงงาน บทมาม่าซัง แต่อย่างงานของดีไซเนอร์โปแลนด์ที่เราไปถ่ายแบบให้กับแบรนด์ MAPAYA ที่โปแลนด์ยังไม่ค่อยเห็นนางแบบเอเชียนะคะ เขาเป็นประเทศที่ไม่ได้ใหญ่มาก เขาก็เลยโอเคให้เราบินไป แล้วก็ร่วมงาน 2-3 ครั้งแล้ว แล้วก็ที่อเมริกา ก็มีบ้างแต่ว่าก็ไม่ได้เต็มเวลาขนาดนั้น เพราะว่าโอปอล์ไม่ได้ไปอยู่นาน

…ส่วนใหญ่ถ้าเราเบสอยู่ที่ไหน เขาก็จะจ้างคนที่ base อยู่ที่นั่นมากกว่า เพราะว่าสแตนด์บายพร้อมมากกว่าใช่ไหมคะ ถ้าถามว่าเสียเปรียบไหม มันก็มีตรงที่ว่าเราไม่ได้ไปเบสที่นู่น มันเหมาะกับคนที่ไม่ได้มีพันธะ สามารถไปได้ แต่อย่างเรา เรามีเรื่องต้องดูแลบริหารสถาบันค่ะ ก็เลยเน้นเป็น direct booking ไปก่อน ถ้าตรงนี้อยู่นิ่งสัก 1-2 ปี แล้วโอปอลก็หาครู หาทีมงานให้เรียบร้อยก่อน โอปอล์อาจจะบินไปแคสต์ได้ค่ะ”

จากการที่เคยร่วมงานกับทั้งทีมงานต่างประเทศ ทั้งทีมไทยมา นางแบบไทยที่ได้ไปถ่ายแบบไกลถึงโปแลนด์มองว่า ทั้งสองฝั่งมีข้อดี และข้อเสียที่แตกต่างกันไป

“ข้อดีของทีมไทยก็คือว่า มีอะไรก็คุยได้ ไม่ได้ strict เท่ากับต่างชาติ แต่ถ้าเป็นทีมต่างชาติเวลาทำงานเขาก็คือทำงาน แต่เวลาเลิกงานจะตรงเวลา บอกเวลาไหนก็เสร็จเวลานั้น ไม่อย่างนั้นต้องบวกค่าเสียเวลาเพิ่มให้ เขามองว่า เวลาทุกคนมีค่าเท่ากัน” 

…ถ้าสมมติว่า เขาจะเลทเวลามา นั่นหมายความว่า เขาก็ต้องชดเชยเวลาตรงนั้นที่เราเลทไป มันอาจจะเป็นเวลาที่เราต้องไปดูแลแม่ ดูแลคนที่เรารัก หรือเป็นวินาทีสำคัญของคนในครอบครัว เขาจะมองว่า อันนั้นคือเวลาที่มีค่าของเรา เขาก็ต้องมีการจ่าย extra เข้ามา ถ้าสมมติว่าเขาจะต้องเลทเวลาไป 

…แต่ถามว่าทำงานกับต่างชาติกดดันไหม ก็กดดันนะคะ โอปอล์ก็เคยโดนด่า ตอนที่ไปเดินแฟชั่นโชว์ของแบรนด์อิตาลี แล้วทีนี้ตอนที่เดินบนรันเวย์ แต่เป็นปัญหาเรื่องการสื่อสารมากกว่า ด้วยความที่คนอิตาเลียนสำเนียงเขาจะฟังยากนิดหนึ่ง เราก็โดนมาเหมือนกันค่ะ แต่ก็ไม่เป็นไร มันเป็นการทำงานของต่างชาติ แต่เวลาเขาพูดปุ๊บหน้างาน แล้วก็จบไป ไม่ได้มีอะไร จบงานก็คือจบเลยไม่ได้ต่อความยาวสาวความยืดอะไร ก็จะมีข้อดีและข้อจำกัดตรงนี้แหละค่ะ”

เรื่องการทำงานทั้งในไทยและต่างประเทศก็สั่งสมประสบการณ์มาพอสมควรแล้ว เมื่อเธอเวลาส่งต่อความรู้จากประสบการณ์ตรงให้แก่รุ่นน้องให้ตระหนักว่า ทุกคนมีคุณค่าในแบบที่ตัวเองเป็น  

“มีน้องๆ มาขอคำแนะนำจากโอปอล์เยอะเหมือนกันค่ะ โอปอล์ก็บอกไปว่าในอุตสาหกรรมแฟชั่นน่ะ มันไม่ได้มีแค่เดินสวยๆ แล้วก็จบไป มันมีอะไรที่มันมากกว่านั้น น้องบางคนเขาก็จะเข้าใจว่า การเดินแบบจะต้องเดินรันเวย์อย่างเดียว แต่มันมีมากกว่านั้นน่ะ ในโลกของนางแบบอินเตอร์ มันมีทั้งแบบมือ แบบผม แบบอะไรอีกหลายๆ อย่าง ซึ่งบางคนเขาไม่รู้ โอปอล์ก็อยากจะให้คำแนะนำน้องตรงนี้ค่ะ  

“บางคนเขาคิดว่า การเป็นนางแบบจะต้องสูง พอไม่สูงปุ๊บเขาก็ตัดความฝันของเขาเลย บวกกับคนรอบข้างเขาก็จะบอกว่า “ไม่สูงน่ะ เป็นโมเดลไม่ได้หรอก” ซึ่งโอปอล์ก็เคยเจอมาเหมือนกันคำนี้ค่ะว่า เราไม่ได้สูงมาก เพราะเราสูงประมาณ 174 เซนติเมตรค่ะ แต่จริงๆ แล้ววงการนี้มีทั้งสาย commercial สายแมกกาซีน มันไปได้เยอะกว่านั้น” 

หรือบางคนเป็นกังวลในเรื่องของจุดด้อยบนเรือนร่างของตัวเอง บางคนผิวด่าง โอปอล์ก็จะให้คำแนะนำไปว่า ที่ต่างประเทศเนี่ยในเรื่องของพิการ ผิวด่าง นางแบบที่เป็นดาวน์ซินโดรมเขาก็เริ่มสนับสนุนแล้ว อย่าง Gucci เขาทำแคมเปญที่สนับสนุนนางแบบลักษณะนี้ขึ้นมาด้วยเหมือนกัน หรือแม้กระทั่งนางแบบไทยผู้พิการไร้ขาอย่าง กันยา เซสเซอร์ ตอนนี้ก็ดังมากในอเมริกาเหมือนกัน

…จากที่โอปอล์เคยนั่งคุยกับทีมงานที่โอปอล์รู้จักหลายๆ ท่าน เขาก็บอกว่า อุตสาหกรรมนางแบบก็เหมือนอุตสาหกรรมหนึ่งที่ช่วยยกระดับเรื่องสิทธิมนุษยชน อย่างเรื่องผิวสี เรื่องคนพิการ ที่บางคนแทบจะมองข้ามคนกลุ่มนี้ไปด้วยซ้ำ แต่อุตสาหกรรมแฟชั่นเขาก็สนับสนุนกลุ่มคนพวกนี้ขึ้นมาให้เขามีบทบาทในสังคม ซึ่งโอปอล์มองว่า สิ่งนี้มีคุณค่ามากกว่าที่เดินสวยๆ ใส่ชุด” 

แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการเปิดรับความงามในรูปแบบที่แตกต่างในสังคมไทย คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เสพสื่อแฟชั่น หรือติดตามสื่อต่างประเทศอาจจะยังยึดติดในค่านิยมเรื่องความงามรูปแบบเก่าๆ มากกว่า ซึ่งเธอมองว่า สื่อแฟชั่นก็มีส่วนสำคัญในการช่วยเปลี่ยนทัศนคติดังกล่าว

“ถ้าในไทยคงต้องมีผู้ใหญ่ หรือนิตยสารหลายๆ หัวที่สามารถสนับสนุนตรงนี้ แล้วคนทั่วไปก็จะเปิดรับมากขึ้น แต่ถ้าแถวต่างจังหวัดอย่างแถวบ้านโอปอล์เขาก็ยังไม่เข้าใจตรงนี้ค่ะ ประเทศแถบบ้านเราจะมีค่านิยมความงามแบบ beauty queen สูงมาก สายนางแบบลุคอินเตอร์ สายอาร์ต คนต่างจังหวัดอย่างแถวบ้านโอปอล์เขายังไม่เข้าใจตรงนี้ เขาเข้าใจว่า คนสวย อก เอว สะโพกต้องเป๊ะ มันต้องใช้เวลานาน แล้วต้องให้พี่ๆ สื่อช่วยให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ค่ะ

“อย่าว่าแต่คนอื่นเลย ครอบครัวของโอปอล์ก็ยังติดในเรื่องของ beauty standard แบบเดิมๆ อยู่คนในบ้านยังบอกว่า เรานมแบน ดั้งแหมบอยู่เลย เขาก็ยังไม่เข้าใจ ทั้งๆ ที่เราสามารถพิสูจน์ตัวเองได้แล้วว่าหุ่นแบบเราก็สามารถเป็นนางแบบได้นะ แต่เราก็ต้องยืนกระต่ายขาเดียวอยู่ตรงนี้ โอปอล์พยายามอ่านบทความต่างประเทศเพื่อให้ซึมซับเข้าไปให้มุมมองเราเปิดมากขึ้น อาชีพนางแบบเป็นอาชีพที่โอปอล์รักและอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วยส่วนหนึ่ง”  

ในเมื่อการเป็นนางงาม หรือการเป็นดารานักแสดงน่าจะช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องค่านิยมความงามที่หลากหลายได้มากกว่า ทำไมเธอถึงไม่เลือกลองเดินเส้นทางอื่นดูบ้าง เราตั้งคำถามแต่นางแบบมืออาชีพอย่างเธอก็ย้ำชัดว่า ถนัดในสิ่งที่ทำอยู่มากกว่า 

“โอปอล์ไม่ค่อยชอบแอ็คติ้งสักเท่าไรไงคะ เราชอบบริหาร ชอบค้าขายมากกว่า โอปอล์จะถามข้างในใจตัวเองเสมอว่า อะไรที่เราทำแล้วเรามีความสุข สุดท้ายได้คำตอบอยู่สองข้อ หนึ่ง คือ งานนางแบบ สอง คือ การทำธุรกิจอะไรสักอย่างที่สามารถทำควบคู่ไปด้วยกันได้ โอปอล์ก็เลยเปิดสถาบันสอนเดินแบบที่เน้นสไตล์อินเตอร์ แล้วก็พยายามดีลกับต่างประเทศที่เราเคยมี connection เพื่อหาทางสนับสนุนน้องต่อไป เพราะเราก็ไม่รู้ว่า น้องๆ ที่อยู่ต่างจังหวัดเขาอาจจะใช้ชีวิตแบบโอปอล์ในสมัยก่อนก็ได้ ที่ไม่มีทุนหรืออะไร แต่ส่วนสูงได้ ลุคได้ เราก็พยายามสนับสนุนเขาไปเพื่อให้เขาอาจจะมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะอายุเราก็มากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เราก็พยายามหาดาวดวงใหม่ เรามีความเป็นครูอยู่ในใจลึกๆ ตั้งแต่ตอนที่เราตั้งใจจะเรียนคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แต่เราไม่ได้เรียน ทุกวันนี้เราก็แฮปปี้ที่เราได้เห็นเด็ก เห็นดาวดวงใหม่เรื่อยๆ” 

ถ้าหากใครได้ติดตามข่าวคราวอยู่บ้างคงพอจะทราบว่า นางแบบสาวไทยมีอภิมหาเศรษฐีหนุ่มใหญ่มาหมายปอง ตอนนี้สถานะของเธอเป็นอย่างไร เราขออัพเดทจากปากเจ้าตัว 

“ตอนนี้ก็หมั้นอยู่ค่ะ เราคบกันมา 2 ปี เราก็ค่อยๆ ศึกษากันไปค่ะ แต่ช่วงนี้ด้วยสถานการณ์โควิด-19 เขาก็ได้วัคซีนแล้วนะ แต่ว่าถ้าเขาจะบินมา ก็ต้องไปอยู่ภูเก็ต พอภูเก็ตมีข่าวเขาก็กลัวแล้วทีนี้ เขาไม่ได้มาอยู่เมืองไทยบ่อย พูดไทยก็ไม่ได้

…เขาเป็นคนอเมริกันเชื้อสายยิว เขาทำงานสายโทรทัศน์ แต่เขาไม่ค่อยเปิดเผยรายละเอียดเท่าไร แต่เขาก็เล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนเขาอายุประมาณกลางคน เขาก็เคยทำสื่อ ทำช่องโทรทัศน์ อย่างตอนนี้เขาก็ทำเกี่ยวกับพวก TVC รายการทีวีสายสุขภาพ คล้ายๆ บริษัทที่เกี่ยวกับผลิตสื่อให้ช่องใหญ่ๆ แล้วก็ทำอีกหลายธุรกิจอยู่เหมือนกัน เราก็ไม่กล้าถามล้วงลึกอะไรขนาดนั้น แต่ข่าวก็เว่อร์เกินไป เขาก็เป็นคนติดดินทั่วไปนั่นแหละ ไม่ได้ฟุ้งเฟ้ออะไรขนาดนั้น บ้านไม่ได้ใหญ่โตเป็นปราสาทเหมือนอย่างรูปในข่าว เขาก็เป็นคนที่ได้โอกาสดีๆ ในการทำงาน แล้วก็รู้จักเก็บเงินนั่นแหละค่ะ เขาก่อร่างสร้างตัวด้วยตัวเอง เพราะเขาไม่ได้เกิดมาแล้วพ่อแม่มีสมบัติให้ 

…เรามีแพลนจะไปแต่งงานแล้วก็ไปจดทะเบียนที่อเมริกาเลย เพราะเขาเองก็อายุมากแล้ว เขาก็อยากให้เราไปเริ่มต้นทำอะไรที่นู่นเลย เขาอยากมีครอบครัว ซึ่งเรื่องนี้ก็แปลกเหมือนกัน เขาเคยแต่งงานตอนอายุ 20 ปี แล้วก็ไม่เคยแต่งงานอีกเลย แต่แฟนของเขาที่ผ่านๆ มาเนี่ย โอ้โห…หุ่นแบบเนื้อนมไข่ เขาคบนางแบบทั้งนั้น ก่อนหน้านี้ภาพที่เรามองเขาเลยต้องเป็นแบบหนุ่มปาร์ตี้ เพลย์บอย คาสโนว่า ควงผู้หญิงทุกวันไม่ซ้ำหน้าหรือเปล่า คนอื่นที่ไม่รู้จักเขาก็จะมองภาพเขาแบบนั้นแหละ เพราะด้วยงานที่เขาทำ ต้องพบปะกับคนสวยๆ ในวงการฮอลลีวู้ดเยอะ 

…แต่พอมารู้จักตัวจริง กลายเป็นว่า เป็นตรงกันข้ามเลย เขาเป็นคนไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ชอบสังคม ไม่ชอบปาร์ตี้ ชอบอยู่บนเรือยอชต์แบบเงียบๆ อยู่ตามชายฝั่งคนเดียว ภาพที่เราคิดกับสิ่งที่เราได้รู้จักตัวตนเขามันแตกต่างกัน คนข้างนอกมองมาที่เขาแล้วมาบอกเราว่า ระวังจะโดนหลอกไปขายนะ มีผู้หวังดีเยอะมากค่ะ แต่พอมารู้จักจริงๆ ก็ไม่ใช่อย่างที่คิด” 

หลังวิกฤตการณ์โลกคลี่คลายเธอคงจะเดินเข้าประตูวิวาห์ในเร็ววัน แต่ถึงแม้จะเริ่มสร้างครอบครัวกับคู่ชีวิตที่มีทุกอย่างพร้อม แต่เธอก็ยืนยันว่า วิถีแม่บ้านคงไม่ใช่แนวทางของเธอ

“ถ้าอีกหน่อยแต่งงานแล้วย้ายมาอยู่อเมริกา เราคงต้องทำงานที่นี่ การทำงานทำให้เรารู้สึกมี power โอปอล์เคยคบกับแฟนคนก่อนหน้านี้ เขาเป็นคนอเมริกัน ที่ทำธุรกิจอสังหาฯ อยู่ที่บาฮามาส พอไปอยู่นั่น มันสบายก็จริง วันๆ เราแต่งตัวสวยๆ ไปคุยกับลูกค้า 

“โอปอล์จะชอบตั้งคำถามให้ตัวเองไงว่า จุดที่เราแฮปปี้อยู่ตรงไหน ถึงเขาจะให้เงินเราก็จริง แต่ไม่รู้สิคะ เรารู้สึกว่า เราควรต้องหาอะไรที่เป็นตัวของตัวเองก่อน แล้วเราถึงจะรู้สึกมีคุณค่านั่นแหละค่ะ” 

ในอนาคตเธอตั้งใจไว้ว่า จะยังคงทำงานเป็นนางแบบต่อไป ควบคู่กับการบริหารสถาบันสอนเดินแบบที่ปั้นมากับมือ

“ถ้าต้องย้ายไปอยู่ต่างประเทศโอปอล์ก็จะต้องหาครูที่มาซัพพอร์ตเรา ต้องหาครูที่เป็นนางแบบสไตล์อินเตอร์ที่สอนได้ด้วย โอปอล์อยากทำธุรกิจตรงนี้ ให้เราดูมี power มีอะไรทำมากกว่าการเป็นนางแบบน่ะ เพราะถ้าเราเป็นนางแบบอย่างเดียวมันก็เป็นอาชีพที่ไม่แน่นอนอะไร เราต้องมีอาชีพอื่นเสริม ทุกวันนี้แม้กระทั่งนางแบบดังๆ เขายังต้องมีธุรกิจเครื่องสำอาง ถูกไหมคะ พอถึงจุดจุดหนึ่งถ้าโอปอล์อายุ 40-50 ปี ก็อาจจะต้องไปมีธุรกิจเครื่องสำอาง เป็นยูทูบเบอร์เป็นอาชีพเสริมไป 

…ช่วงอายุนี้เราก็ต้องรีบสร้างเนื้อสร้างตัวก่อน แต่งานนางแบบเราก็ไม่ได้ทิ้ง เพราะที่ต่างประเทศนางแบบอายุ 30-40 ปี ก็ยังพอมีงาน TVC อยู่ รายได้ก็ดีกว่าที่เมืองไทยอยู่ ที่ไทยรู้สึกระบบเริ่มรวนแล้ว ในเรื่องของค่าตัวนางแบบเริ่มถูกลงๆ แล้วส่วนใหญ่บ้านเรา จะเน้นนางแบบต่างชาติ ถ้าใช้เป็นนางแบบฝรั่งก็จะดูอินเตอร์กว่า หรือไม่ก็ขาวๆ หมวยๆ เก๋ๆ หน่อย ถ้าเป็นหน้าไทยๆ ก็ต้องไปหางานเมืองนอกมากกว่า” 

นั่นเป็นความคิดเห็นของนางแบบไทยแท้ที่ได้รับโอกาสดีๆ จากต่างประเทศ และหวังว่า จะช่วยส่งต่อประสบการณ์สู่รุ่นน้องต่อไป 

ติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในนิตยสารลิปส์ ฉบับเดือนกันยายน 2564 

Photos : @pili_opal 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม