Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

แจกคู่มือเตรียมเสียใจกับรัฐบาลใหม่ ฉบับจิตแพทย์ ‘พีรพล ภัทรนุธาพร’ แห่งเพจดัง ‘ผมอยู่ข้างหลังคุณ’

Interview / Professional

อยู่กับการรอรัฐบาลใหม่ อยู่กับความเห็นต่าง อยู่กับการเมืองเรื่องของความหวัง…ล้วนเป็นสิ่งที่คนไทยต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วย แม้จะอยู่ได้ไม่ง่ายนัก แต่หากตั้งหลักให้ถูก เข้าใจระบบ มองเห็นโครงสร้างก็อาจบรรเทา ดังคำแนะนำใน session พิเศษที่ LIPS ไปคุยกับ นายแพทย์พีรพล ภัทรนุธาพร จิตแพทย์และเจ้าของเพจอันโด่งดัง ‘ผมอยู่ข้างหลังคุณ’

LIPS: คุณหมอมองเห็นอะไรในแง่มุมจิตวิทยาของผู้คนในสังคมบ้าง หลังจากผลการเลือกตั้งออกมา

พีรพล: ความหวังของคนที่เข้มข้นครับ แล้วไม่ใช่แค่หวังเฉยๆ หรือนั่งหน้าคอมโพสต์ลงโซเชียล แต่ลงมือมีส่วนร่วมจริงคือไปเลือกตั้งเพื่อผลักดันความหวังตัวเอง สัมผัสพลังของคนรอบตัวที่ไปเลือกตั้งได้เลยว่าทุกคนที่ไปมุ่งมั่นมากๆ

เมื่อผลเลือกตั้งออกมาก็ยิ่งคอนเฟิร์ม คนไปเลือกตั้งถึง 75 เปอร์เซ็นต์ เยอะที่สุดในการเลือกตั้ง แต่หลังการเลือกตั้งที่คนเครียดมากขึ้น ผมมองว่าเป็นความเครียดระหว่างรอ คือความเครียดจากความไม่แน่นอน ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าระบบการเมืองของเรา หนึ่ง ระยะเวลารับรองผลนาน สอง คนไม่มั่นใจว่าเสียงข้างมากจะมีโอกาสได้เป็นพรรครัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรีหรือเปล่า ความไม่แน่นอนนี้ผมเปรียบเทียบว่าเหมือนเวลาเราสอบเสร็จ ความเครียดไม่ได้อยู่แค่ที่ช่วงเตรียมสอบ แต่คือช่วงที่รอผลสอบ ถ้าสอบตก เราคงผิดหวัง แต่เราจะเดินหน้าต่อได้ ถ้าสอบผ่าน เราจะได้วางแผนการเรียน เช่าหอ ฯลฯ แต่ช่วงรอผลสอบ 2 เดือนนี้ ไม่ชัดเจน ไม่มีคำตอบว่าต้องไปต่อยังไง มันคือความเครียด

ถ้าในอนาคต เราทำให้ช่วงรับรองผลเลือกตั้งสั้นกว่านี้ได้ หรือรูปแบบการเลือกตั้งมีความชัดเจนมากขึ้น คนอาจวิตกกังวลน้อยลง ความเครียดจะสั้นลง

“หลังการเลือกตั้งที่คนเครียดมากขึ้น เป็นความเครียดระหว่างรอ เป็นความเครียดจากความไม่แน่นอน”

LIPS: ช่วงนี้ที่คนรอรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นการรออยู่ในความไม่แน่นอน เราอาจต้องเตรียมคู่มือเสียใจไว้ล่วงหน้าหรือเปล่า

พีรพล: เตรียมไว้ได้ครับ แต่อย่าถอดใจประชาธิปไตยจะเติบโตได้ก็เหมือนเลี้ยงเด็กที่ต้องให้เกิดวุฒิภาวะหรือ Maturity ผ่านการผิดหวังเสียใจครับ เช่น เสียใจว่าพรรคที่เราเลือกอาจไม่ได้เป็นรัฐบาล นโยบายบางอย่างไม่เกิดขึ้นจริง หรือไปเจอการโกงกิน ฯลฯ ก็เหมือนผิดหวังกับเด็กที่เคยล้ม เคยทำผิด เคยเสียใจ ถ้าปล่อยให้ผู้ใหญ่เห็นเด็กเจอปัญหาแล้วเข้าไปทำแทนหมด เด็กก็จะไม่โต รอแต่ผู้ใหญ่มาจัดการให้ แต่ถ้าเขาได้เรียนรู้เขาก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นแล้วทำได้ดีกว่าในครั้งหน้า

ประชาธิปไตยก็เหมือนกัน ถึงเสียใจจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าเราให้เวลามันโต ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ เลือกครั้งนี้ผิดหวังแล้วเคารพกติกา รอเลือกตั้งครั้งหน้า เรียนรู้การเลือกคนใหม่ พรรคการเมืองได้รับการสั่งสอนจากประชาชนก็กลับไปพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ประชาธิปไตยกับบ้านเมืองก็จะค่อยๆพัฒนาแบบมี Maturity แต่ถ้าเวลาผิดหวังเสียใจ มีรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหา เราก็จะไม่ได้ประชาธิปไตยที่มีวุฒิภาวะ เพราะจะมีผู้ใหญ่หวังดีมาแก้ปัญหาหรือมาวางนโยบายให้เราตลอด โดยที่เราไม่ได้ล้ม เรียนรู้ แล้วลุกขึ้นมาโตเองเลย

และความผิดหวังเสียใจก็อยากให้ตั้งอยู่บนคำว่า Realistic Hope ความคาดหวังที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ซึ่งต้องตั้งอยู่บนความเข้าใจสถานการณ์จริง

ความจริงอย่างแรกคือประเทศเราเป็นการเมืองระบบหลายพรรค รัฐบาลก็มักเป็นแบบผสม โอกาสที่พรรคที่เราเลือกจะดำเนินนโยบายได้อย่างที่คิดก็ไม่ง่าย เพราะย่อมต้องมีการเจรจาต่อรองอยู่แล้ว และพรรคอื่นก็ย่อมมีนโยบายที่ตอบสนองคนที่เลือกเขา ดังนั้น ความสมหวังคือพรรคที่เราเลือกได้เป็นรัฐบาล ความผิดหวังคือเราอาจไม่ได้ทุกอย่างที่ต้องการและรวดเร็วอย่างที่หวัง เช่น การขึ้นค่าแรงก็จะมีแรงกดดันจากทุนและปัจจัยอื่นๆ อีก

สอง กลไกการเมืองของบ้านเราไม่ใช่ว่าพรรคที่ชนะจะได้เป็นรัฐบาล 100 เปอร์เซ็นต์ มันมีกลไกอีกมาก เราหวังได้ แต่ก็ต้องทำใจด้วยว่าอาจมีกลไกบางอย่างที่ทำให้เราผิดหวังได้

Realistic Hope ในระบอบประชาธิปไตยอีกอย่างคือ อย่าลืมเรื่องความขัดแย้งและการต่อรอง ถ้าเทียบกับระบอบเผด็จการที่อยากออกนโยบายอะไรก็ได้ แต่ประชาธิปไตยต้องเจอหลายเสียง หลายฝ่ายคัดค้าน แม้แต่ในฝ่ายเดียวกันก็ตาม เพราะมันไม่ใช่ขาว-ดำ แต่มีหลายเฉด เช่น คนที่เป็นเสรีนิยมเหมือนกัน แต่คนนี้อาจไม่เห็นกับสุราก้าวหน้า อีกคนไม่เห็นด้วยกับการทำแท้ง ประชาธิปไตยยิ่งมีความแตกต่างหรือเห็นแย้งก็จะยิ่งเห็นผลช้ากว่ารูปแบบสังคมเผด็จการหรือขาว-ดำที่ฉันเห็นว่าแบบนี้ดี อีกอย่างไม่ดี จบแล้วในความเป็นการเมืองแบบผสมก็ไม่ใช่พรรคที่เราชอบพรรคเดียวที่ทำให้ประเทศเจริญ มีประชาชนอีกกลุ่มที่เลือกอีกพรรค เพราะเขาอยากเห็นความเจริญอีกแบบหนึ่ง ถ้าพรรคที่เราชอบไม่ได้ชนะแบบขาดลอยจนไม่ต้องง้อใคร ยังไงเขาก็ต้องไปเจรจาร่วมมือกับพรรคอื่น ต่อรองตำแหน่ง ต่อรองนโยบาย ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ที่พรรคอื่นจะยอมทุกอย่าง เพราะถ้าพรรคอื่นๆยอมหมด เขาจะมีโอกาสสร้างผลงานได้อย่างไร เขาก็ต้องพยายามสร้างผลงานให้คนที่เลือกเขาได้เห็นเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้มีการต่อรองอำนาจและล่าช้า ซึ่งก็เป็นความจริงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

“สังคมที่ไม่มีความขัดแย้งเลย คิดเหมือนกันหมด มีชุดคุณค่าเหมือนกันหมดนี่ผิดธรรมชาติ ในเมื่อคนเราเกิดมาในสภาพแวดล้อมต่างกัน”

LIPS: พอคนคิดว่านักการเมืองหิวอำนาจ จึงเกิดคำว่า ‘คนดีย์’

พีรพล: อำนาจไม่ได้มีความหมายแง่ลบเสมอไปนะครับ ในระบบการเมืองคุณต้องมีอำนาจก่อนจึงจะทำนโยบายได้ ประชาธิปไตยคือการต่อรองอำนาจและจัดสรรผลประโยชน์ของแต่ละพรรคร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าเป็นรูปแบบเผด็จการ คนที่เข้ามาปกครองมีอำนาจสูงสุดคือคนตัดสินว่าอะไรดี อะไรไม่ดี เป็นคนจัดสรรทรัพยากรและทุกอย่าง เราจึงไม่เห็นภาพการแก่งแย่งหรือหิวอำนาจ ซึ่งถ้าเราไม่เข้าใจความเป็นจริงว่าระบบมีโครงสร้างแบบนี้ เราจะตกเป็นเหยื่อของคำพูดและวนลูปไปว่า ประชาธิปไตยไม่ดี ช้า เอาแต่เถียงกัน

LIPS: คนไทยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความขัดแย้งให้เป็น แม้ขัดกับนิสัยไทยนี้รักสงบ

พีรพล: สังคมที่ไม่มีความขัดแย้งเลย คิดเหมือนกันหมด มีชุดคุณค่าเหมือนกันหมดนี่ผิดธรรมชาตินะครับ ในเมื่อคนเราเกิดมาในสภาพแวดล้อมต่างกัน เป็นเรื่องปกติที่เราจะคิด ชอบ หรือเลือกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องสงบ จะเถียงจะแย้งกันบ้างก็ได้ แต่ถ้าเราอยู่ในสังคมที่กำหนดว่าต้องเหมือนกัน ไม่ชอบเห็นความขัดแย้ง จะเกิดสิ่งที่เห็นบ่อยๆคือ หนึ่ง คนที่คิดแย้งก็จะเริ่มไม่แสดงออก ไม่อยากเป็นแกะดำ กลัวถูกตำหนิ หรือถูกปลูกฝังว่าเป็นสิ่งที่ผิด ไม่ดี บางคนอยู่เป็นก็เนียนๆไป แต่จริงๆแล้วเขาอาจไม่ใช่เสียงส่วนน้อยก็ได้

ปัญหาแบบที่สองคือจะเป็นสังคมที่เสียงของผู้มีอำนาจมากที่สุด หรือมีอาวุโสที่สุดเป็นใหญ่อยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งไม่ใช่ว่าจะดีที่สุดเสมอไป โอกาสที่จะพัฒนาหรือมีสิ่งใหม่ก็ไม่ได้เกิด

“บางสื่อทำข่าวแบบเอามัน แล้วเราก็ไปเสพสื่อแบบนั้น เราจะเหนื่อยกับการฟาดมาก ทั้งที่ปริมาณคอนเทนต์เท่าเดิม”

LIPS: เราจะเสพข่าวการเมืองอย่างไรให้ตัวเองยังมีสุขภาพจิตที่ดีได้อยู่ ตื่นมาก็มีเรื่องใหม่อีกละ

พีรพล: คำตอบที่ใช้ได้หมดไม่ว่าจะอดีต ปัจจุบัน อนาคตมีองค์ประกอบ 3 ข้อ หนึ่ง ระยะเวลาในการเสพข่าว หัวข้อนี้จะไม่มีความหมายเลย ถ้าเราอยู่ในยุคที่มีแต่ข่าวโทรทัศน์ไม่กี่ช่องแบบสมัยก่อน มีแต่ข่าวตอนหัวค่ำและวิทยุบางช่วง ซึ่งเป็นตัวจำกัดระยะเวลาในการเสพข่าวอยู่แล้ว แต่ยุคนี้แค่ไถหน้าจอก็จะเจอข่าวตลอด และบางทีก็เป็นเรื่องเดิม แต่ถูกนำเสนอซ้ำในสื่อต่างๆ เราก็จะเครียดซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้เกือบทั้งวันที่เล่นมือถือ เราก็ถอยออกมา ไปเปิดดูซีรีส์ ดูอย่างอื่นบ้าง

สอง ปริมาณในการเสพข่าวหรือการมีส่วนร่วมกับข่าว ถ้าอ่านข่าวมากไป มีส่วนร่วมมากไป เริ่มหงุดหงิดละ ก็ถอยออกมานิดหนึ่ง เราไม่ต้องรีทวีตหรือมีส่วนร่วมตลอดก็ได้ ไม่ผิดด้วย ไม่อย่างนั้นเราจะเหนื่อย และบางทีเป็นความเหนื่อยที่สูญเปล่า เพราะเราพยายามอธิบายให้ใครก็ไม่รู้ ซึ่งเขาไม่ได้สนใจเราเท่าไร แล้วก็รีทวีตกันต่อไปเรื่อยๆ

สาม การคัดเลือกสื่อก็มีผลต่อสุขภาพจิต บางคนอาจจะคิดว่าเครียดเพราะเราไปเจอความเห็นต่าง นั่นก็ใช่ แต่ความเครียดอีกอย่างที่ทำให้คนเครียดไม่รู้ตัวคือ Echo Chamber หรือใช้ชีวิตออนไลน์อยู่แต่ในพื้นที่ของคนที่มีทัศนคติเหมือนกัน ข่าวการเมืองเรื่องเดิมๆจากกลุ่มเราเอง เมื่อเราอ่านซ้ำๆ ความคิดเห็นก็เริ่มรุนแรงขึ้น อารมณ์เรายิ่งเข้มข้นสุดโต่งมากขึ้น

ผมคิดว่าการเลือกสำคัญ เราควรเลือกเสพสื่อที่ไม่เร้าอารมณ์สุดโต่งจนเกินไป อย่างในประเด็นเดียวกัน บางสื่อก็ทำข่าวแบบเอามัน แล้วเราก็ไปเสพสื่อแบบนั้น เราจะเหนื่อยกับการฟาดมากนะครับ ทั้งที่ปริมาณคอนเทนต์เท่าเดิม เสพสื่อให้หลากหลาย อย่าเสพสื่อฝั่งเราอย่างเดียว ควรเสพการนำเสนออีกด้านด้วย ฟังความเห็นแย้งอีกฟากหนึ่งดู

LIPS: ธนาธร ชัชชาติ พิธา คนไทยกรี๊ดเหมือนเจอไอดอลเกาหลี ทำไมคนไทยต้องหยิบยกคนขึ้นมากรี๊ด และต้องการ Hero Figure มากถึงขนาดที่มีแฟนด้อมนักการเมือง

พีรพล: ผมมองว่า สาเหตุที่นักการเมืองที่ยกตัวอย่างมามีแฟนด้อมหรือเป็น Hero Figure หนึ่ง ความ Charisma สอง การสื่อสารที่มีเสน่ห์ทำให้คนติดตาม สาม การแสดงออกทำให้ประชาชนที่มีความหวังเชื่อมั่นว่าสิ่งที่หวังไว้จะมีโอกาสเกิดขึ้นจริง

นายกรัฐมนตรีในอดีต หลายๆ คนก็เป็นฮีโร่ของหนุ่มสาวในยุคนั้น แฟนด้อมนักการเมืองจึงมีอยู่แล้ว เพียงแต่การแสดงออกของประชาชนที่ชื่นชอบ มีฮีโร่เป็นนักการเมืองก็มีรูปแบบการแสดงออกและการสื่อสารต่างไปจากสมัยก่อน ไม่ใช่เรื่องบวกหรือลบ แต่เราชอบอย่างมี Realistic Hope เราคาดหวังนักการเมืองให้ทำนโยบายนี้ ตัวเขาคนเดียวอาจจะทำไม่ได้ หรือการเมืองระบบหลายพรรคหรือรัฐบาลผสมแบบเมืองไทย สิ่งที่เราหวังก็อาจจะไม่สมหวังไปทุกอย่าง

“คนที่เราแตะได้ ด่าได้ และเขาปรับปรุงตัว คนแบบนี้มีคุณค่าที่เราจะศรัทธา”

การมีฮีโร่ก็มีอีกด้านที่เราต้องรู้ทันตัวเองคือ พอเราชอบใคร เราจะไม่ค่อยตรวจสอบเขา สมมติฮีโร่ของเรากับฝั่งตรงข้ามทำผิดในสเกลเดียวกัน แต่การตรวจสอบของเราต่อฮีโร่จะไม่เข้มข้นเท่าที่เราทำกับฝ่ายตรงข้าม เพราะเราศรัทธาเชื่อถือ

ฮีโร่นักการเมือง ต่างจากฮีโร่ในหนัง เช่น ซูเปอร์แมนที่ไม่ว่าจะกี่สิบปี เขาก็คือตัวแทนความดี แต่ในชีวิตจริง เราจะไปคาดหวังต่อนักการเมืองแบบเดียวกับที่เราคาดหวังฮีโร่ในหนังไม่ได้ เราต้องตรวจสอบ ต้องวิจารณ์ และมีสิทธิ์ปฏิเสธฮีโร่ของเราได้ ถ้าเขาทำผิดหรือทำไม่ได้อย่างที่พูด หรือในพื้นที่เรามีคนอื่นที่เสนอนโยบายที่ตอบสนองต่อประชาชนได้มากกว่า เราก็เปลี่ยนได้ ประชาธิปไตยคือประชาชนมีอำนาจที่จะเลือก การมองนักการเมืองหรือพรรคเป็นฮีโร่นั้นไม่ผิด แค่ว่าเราไม่มีฮีโร่ถาวรแบบในหนัง เราสามารถเลือกคนใหม่ๆ หรือพรรคใหม่ๆได้

LIPS: อ.ชัชชาติเคยพูดประเด็นนี้ว่าอย่าเชื่อแก แกอาจจะพูดผิดก็ได้

พีรพล: ถ้าฮีโร่ที่เราชอบนั้นเปิดกว้าง ยอมรับการถูกว่ากล่าวตักเตือนได้ ก็ยิ่งจะช่วยพัฒนา เพราะไม่มีทางที่คนเราจะทำถูกทุกอย่าง เขาอาจทำผิดได้ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ถ้าเราเข้าข้าง ปกป้อง ไม่ฟีดแบ็กเขาเลย ก็ยิ่งเป็นดินพอกหางหมู เขาอาจจะทำผิดบ่อยขึ้น ถ้าเราฟีดแบ็กเขาก็จะช่วยขัดเกลาเขา คนที่เราแตะได้ ด่าได้ และเขาปรับปรุงตัว จะเป็นประโยชน์สองทางทั้งเขาและเรา และคนแบบนี้มีคุณค่าที่เราจะศรัทธา

Words: Suphakdipa Poolsap
Photo: Somkiat Kangsdalwirun

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม