Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

อ่านเรื่องเรียลของฝาแฝดจากมุมมองแฝดตัวจริง วรรณแวว-แวววรรณ

ผู้กำกับแฝดคู่แรกของไทยกับผลงาน ‘เธอกับฉันกับฉัน’ หนังเล็กที่เล่าเรื่องรักของวัยรุ่น
Interview / People

มุนินทร์-มุตา, กาสะลอง-ซ้องปีบ ไปจนถึง พิมพ์-พลอย จากหนังเรื่องแฝด ภาพที่ติดตามมาคือรอยตบ เสียงกรีดร้อง สายตาจิกอาฆาต เลือด น้ำตาและความหลอน ฝาแฝดเช่นนั้น-พบได้ทั่วไปในสื่อบันเทิงไทย แต่ไม่ใช่เรื่องใช่ใกล้ตัวของฝาแฝดในชีวิตจริง และหากจะมีใครที่บอกเล่าเรื่องราวของแฝดในมุมต่าง สองคนนั้นก็คงจะเป็นผู้กำกับฝาแฝด วรรณแวว-แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ 

วรรณเกิดก่อน 5 นาที แววที่ตามมากลับเอาลำตัวขวางช่องทางเกิดตามธรรมชาติของมารดาเอาไว้ นั่นทำให้แววตัวเขียว ขาดออกซิเจน และหมอจึงต้องอัญเชิญแววเข้าตู้อบ 

5 นาทีนั้นอาจเป็นช่วงเวลาที่ฝาแฝดวรรณ-แววอยู่ห่างกันที่สุด เมื่อตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา พวกเธอแบ่งปันอาหาร อากาศหายใจ เลือดเนื้อเชื้อไขกระทั่งไออุ่นจากกันและกันมาตลอด แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อสองวงกลมที่เคยทับซ้อนเริ่มเคลื่อนห่างจากกัน อาจจะด้วยความปรารถนาอยากให้โลกมองเห็น ‘ฉัน’ ไม่ใช่ ‘เรา’ หรือความเป็นแฝดอาจถูกแยกห่างด้วยรักแรก 

สองประโยคหลังนั่นคือไอเดียต้นกำเนิดภาพยนตร์ยาวเรื่องแรกในชีวิตของวรรณและแวว ‘เธอกับฉันกับฉัน’ ซึ่งบอกเล่าชีวิตฝาแฝดแบบ ‘จริง’ ในหนัง ‘เล็ก ๆ’ ของมนุษย์ตัวเล็ก ๆ ด้วยใจหวังว่าจะนำเสนอภาพใหม่ของแฝดและจัดวางหนังตระกูลใหม่บนชั้นวางหนังไทยเป็นอีกทางเลือกให้ผู้ชมได้เลือกชิม

LIPS: ปกติวรรณกับแววมักทำหนังสั้น หนังสือหรือโปรเจ็กต์ครีเอทีฟต่าง ๆ ด้วยกันอยู่แล้ว หนังเรื่องนี้จะต่างจากงานชิ้นอื่น ๆ อย่างไร 

WAEW: เป็นโปรเจ็กต์ที่เราคิดและเขียนขึ้นมาเองแล้วไปเสนอจีดีเอช ไม่เหมือนโปรเจ็กต์อื่น ๆ ของค่ายที่โปรดิวเซอร์จะมีไอเดียบางอย่างแล้วหาผู้กำกับมาพัฒนาต่อ แล้วก็มาจับคู่เรากับพี่โต้ง (บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมคัดเลือกบท ส่วนโครงเรื่องเราเริ่มจากความรู้สึกที่ว่าแฝดถูกจับคู่กับความหลอน ผี สองขั้วตรงข้าว คนหนึ่งเลว อีกคนดี แฝดต้องเคียดแค้นโกรธเกลียดกัน มันไม่ใช่เรื่องจริงเลย สุดขั้วไปมาก 

LIPS: คิดว่าทำไมภาพของแฝดถูกนำเสนอในแบบนั้น

WAEW: อาจจะเพราะการเห็นภาพของคนสองคนที่เหมือนกันดูไม่ปกติ เคยมีเคสแฝดตัวติดกันเลยดูหลอน ๆ อย่างเทรลเลอร์หนังเราออกไปก็มีคนพูดว่าต้องเป็นหนังผี ต้องหลอนแน่ นี่ละคือจุดเริ่มต้นของหนังที่เราอยากทำเรื่องราวของแฝดในโลกจริง 

LIPS: แล้วแฝดในชีวิตจริงของเราเป็นอย่างไร

WAEW: ปกติ ไม่ได้สวีท แต่ว่ารู้ใจกัน

WAN: แฝดจะมีความทรงจำส่วนหนึ่งที่เราเองก็จำไม่ได้ คือตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ตามทฤษฎีแล้วแฝดจะแชร์ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยทั้งอาหาร ไออุ่น มีการสื่อสารกันผ่านร่างกายตลอดเวลา พอโตมาเราพบเจอประสบการณ์ในโลกมาด้วยกันตลอด เราสองคนไม่มีช่วงชีวิตที่ต้องมานั่งเขียนระบายความในใจในไดอารีจ๋าเลย เราสองคนเป็นไดอารีของกันและกัน เรามีเรื่องอะไรก็บอกเล่าให้กันฟังตลอด เลยคิดว่าคงเป็นความผูกพันที่ถักทอกันมา

ตอนเริ่มเขียนบท เราสัมภาษณ์แฝดหลายคู่ อย่างเพื่อนในรุ่นเรามีแฝด 5 คู่ เราก็ไปสัมภาษณ์เพื่อน ๆ ซึ่งทุกคู่จะคล้าย ๆ กัน บางคู่จะเป็นตัวเองได้มากที่สุดเวลาอยู่ด้วยกัน อย่างเวลาอยู่กับเพื่อนหรือแฟน เขาจะโชว์แค่บางด้าน แต่กับแฝดเรา เราจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ต้องแอ๊บ ไม่ต้องใส่หน้ากาก 

LIPS: แล้วเจอคู่แฝดแบบมุนินทร์-มุตาในชีวิตจริงบ้างไหม แฝดที่ต่างกันสุดขั้วแล้วเกลียดกันจะเป็นจะตาย

WAEW: มีบ้างที่เป็นแฝดไม่สนิทกัน หรือคนหนึ่งไปสายอาร์ต อีกคนไปสายธุรกิจ แฝดไม่สนิทคงมีแหละ แต่คงไม่ถึงขั้นสุดขั้วแบบมุนินทร์-มุตา เราอยากเล่าเรื่องแฝดในแบบที่เราประสบมา

WAN: พอเล่าเรื่องแฝดคงหนีไม่พ้นเรื่องอัตลักษณ์และความเป็นตัวตน เราอยากเป็นคู่หรืออยากจะเดี่ยว เลยเล่าถึงช่วงเปลี่ยนผ่านวัย เป็น coming-of-age จากวงกลมที่ซ้อนกันอยู่ก็ค่อย ๆ เคลื่อนออกจากกัน จากรีเสิร์ชที่เราค้นมา จุดเปลี่ยนผ่านวัยคือจุดก้าวข้ามของแฝดจากจุดที่เราอยู่ด้วยกันนี่แหละ ดีแล้ว ไปเป็นที่จุดที่เราก็อยากเป็นเรา เลยเอาเรื่องความรักมาเป็นปมหรือปัจจัยที่ทำให้แฝดเติบโต มันคือเรื่องที่แชร์กันไม่ได้แล้ว ความรักน่าจะเป็นความท้าทายแรกในชีวิตของแฝด 

LIPS: นักแสดงนำทั้ง 3 คน ไม่สิ 2 คน คือใบปอ (ธิติยา จิระพรศิลป์) กับแอนโทนี (บุยเซอเรท์) เป็นหน้าใหม่แต่ต้องมาแบกหนังทั้งเรื่อง 

WAEW: เราเอาใบปอเป็นตัวตั้งก่อน แล้วหานักแสดงผู้ชายที่เคมีเข้ากับใบปอได้ ก็มาเจอแอนโทนีซึ่งเป็นเด็กลูกครึ่ง เรียนอินเตอร์ ตอนแรกผมยาวทรงเกาหลีมาเลย เป็นเด็กเมืองมาก ๆ แล้วจะกลายเป็นเด็กอีสานตัวน้อย ๆ ของฉันได้อย่างไร 

WAN: วันที่เราตัดสินใจว่าจะเลือกแอนโทนี เราต้องผลักดันให้เขาทำอะไรที่ในชีวิตไม่เคยคิดจะทำมาก่อน ต้องสลายความเป็นเด็กเมืองออกไปให้หมด ไปอยู่นครพนมเลยค่ะ ไปอยู่กับเด็ก ๆ ที่นั่นให้เขาพาไปงมหอย โดดน้ำ ฝึกขี่มอเตอร์ไซค์ และปรับบทให้เข้ากับแอนโทนี 

LIPS: ใบปอเป็นนักแสดงคนเดียว แต่แสดงเป็นแฝด เป็นไปได้ไหมที่จะหาแฝดมาแสดงเป็นแฝด

WAN: เราพยายามแล้ว ตอนแรกเห็นใบปอก็ชอบ ใช่ หน้าแบบนี้แหละ ถูกต้อง แต่ใบปอมีคนเดียว ถ้าเราเลือกใบปอ งานงอกทุกแผนกแน่นอน เลยพยายามดิ้นรนด้วยการประกาศหานักแสดงแฝด แต่ก็หาไม่ได้ จนพี่โต้งถามว่า ตัดเรื่องใบปอมีคนเดียวออกไปก่อน ถ้าใบปอมีสองคน เราจะเลือกใบปอหรือเปล่า เราก็เลือก แปลว่าก็ต้องเป็นใบปออยู่ดี เรากังวลเรื่องว่าจะเสียไดนามิกของปฏิสัมพันธ์หรือการด้นสดระหว่างแฝดที่มีให้กัน แต่ข้อดีพอมองย้อนกลับไปคือ เราเป็นแฝดอยู่แล้ว รายละเอียดเหล่านั้น เราเติมเข้าไปในบทได้ 

WAEW: แม้ว่าจะเฟรมภาพจะจำกัดมาก ๆ ว่าน้องหันซ้ายหันขวาได้เท่านี้นะ น้องถึกมากจริง ๆ ตอนมาแสดงอายุ 17 ตอนนี้ 18 แล้ว ส่งไปเวิร์กช็อป 10 กว่าครั้ง เอาแค่เบสิคที่สุดคือแสดง 2 คาแรกเตอร์ให้ขาดกันให้ได้ และสลับคาแรกเตอร์ไปมาได้ 

WAN: วัยในหนังเราเป็นม.ต้น และไม่มีนักแสดงวัยนี้ในตลาดเลยแม้แต่คนเดียว ก็เลยต้องหาเด็กหน้าใหม่ จนวันที่เวิร์กช็อปเสร็จ แอนโทนีถามเราว่า ‘พี่ ๆ ทำไมเลือกนักแสดงหน้าใหม่ พี่ไม่เหนื่อยกันหรือ’ (หัวเราะ) โทนี พี่ไม่มีทางเลือก… ถ้าเราเลือกนักแสดงอาชีพมา เราคงเบาใจว่าเขาคงแสดงได้หรือเขาคงไปหาทางทำมาจนได้ แต่พอเราต้องการนักแสดงหน้าใหม่ที่เชื่อในวัยนี้ เราต้องทั้งลุ้นทั้งดันมาก

LIPS: ก็มาจากสารตั้งต้นที่อยากจะเล่าช่วงเปลี่ยนผ่านวัย เป็นการขุดหลุมดักตัวเองไว้ทั้งสิ้น

WAN & WAEW: ถูกต้อง ทำตัวเองทั้งสิ้น 

LIPS: ส่วนวรรณกับแวว ตอนเรียนแยกคณะกัน วรรณเรียนนิเทศ แววเรียนเศรษฐศาสตร์ แต่ทำหนังด้วยกันตลอด 

WAN: เริ่มจากสมัยเรียนฟิล์มแล้วเราทำหนังสั้น ก็มาปรึกษาแววตลอด เครดิตผู้กำกับยังใส่ชื่อสองคนเลย 

WAEW: เราคุยกันทุกเรื่อง ทำอะไรด้วยกันทุกเรื่อง พอวรรณทำหนัง เราก็ไปทำด้วยแต่เราไม่ได้เกรด เราไม่ได้คิดอะไรมากด้วยซ้ำ พอไปทำหนังก็รู้สึกว่าสนุกกว่าที่เราเรียนเศรษฐศาสตร์ด้วยซ้ำ สรุปว่าเลือกคณะผิด 

WAN: เป็นธรรมชาติด้วยที่เวลาจะทำอะไร เราอยากได้คำยืนยันจากคนอื่นว่าความคิดเราโอเคแล้ว เราอยากเล่าสิ่งที่เราคิดให้เขาฟัง เพราะจะต่อยอดความคิดกันให้ดีขึ้น ยิงไอเดียใส่กัน บางคนเวลาทำงานครีเอทีฟอยากอยู่กับตัวเอง แต่เราชอบเล่าให้แววฟัง 

LIPS: เวลาแยกคู่กันไปทำงานของตัวเอง รู้สึกอย่างไร มั่นใจน้อยลงหรือก็ปกติ

WAEW: แววเคยไปเป็นพนักงานออฟฟิศที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง และมีช่วงที่วรรณไปเป็นกองบก.นิตยสารไอโอสโคป อย่างเขียนบทซีรีส์ฮอร์โมนส์ วรรณก็ไปคนเดียว โปรเจ็กต์นั้นแววไม่ได้ทำ คนมักจะคิดว่า เวลารับสมัครงานก็ไม่อยากได้แฝด เพราะมันคือสองคนที่ซ้ำกัน อยากได้คนเดียว สำหรับเรารู้สึกว่าเวลาเราทำงานเดี่ยว เราไม่เก่งเท่าเวลาเราทำงานคู่ ถ้าทำงานคนเดียวเราก็เป็นมนุษย์ปกติ แต่พอเรารวมร่างกันแล้วจะกลายเป็นซูเปอร์ไซย่า 

LIPS: ความเป็นแฝดของเราเกื้อกูลกันอย่างไรบ้าง

WAN: เราเป็นมากกว่าเพื่อนเพราะเราเติบโตมาด้วยกัน เราเป็นมากกว่าพี่น้องเพราะเราไม่มีระบบอาวุโสระหว่างกัน 

WAEW: วรรณเกิดก่อน 5 นาที แต่ไม่มีใครยอมเป็นพี่เป็นน้อง จะเรียกแทนตัวเองว่าพี่ ‘พี่วรรณ’ ‘พี่แวว’ เพราะรู้สึกว่าใครเป็นน้องจะเสียเปรียบ

LIPS: แล้วต้องแต่งตัวเหมือนกัน ใช้ของเหมือนกันหรือเปล่า

WAEW: ตอนเด็ก ๆ เป็นแบบนั้น แต่ก็จะรู้สึกว่าการซื้อเสื้อผ้าเหมือนกันสองชิ้นมันเปลืองเงินเปล่า ๆ ไม่เมกเซนส์ เราเลยใช้วิธีซื้อเสื้อผ้าใส่กันเองแล้วใส่ด้วยกัน หารสองจ่ายเงินกันคนละครึ่ง 

WAN: จากที่เราสัมภาษณ์แฝดหลาย ๆ คู่มา แฝดบางคู่แยกเสื้อผ้ากันใส่ไปเลย แต่คู่เราแบ่งกันใส่ แล้วทุกครั้งที่แววซื้ออะไรมาก็จะมาเก็บเงินกับวรรณโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า 

LIPS: เคยทะเลาะกันหนัก ๆ จนจะตัดขาดความเป็นแฝดบ้างไหม

WAN: ทะเลาะกันบ่อยแต่เรื่องงี่เง่า ด้วยความที่เราสองคนเกี่ยวข้องกันตลอดเวลา มีเรื่องให้ต้องพูดคุยกันอยู่ดีแหละ ทำงานด้วยกัน ใช้ชีวิตด้วยกัน จะไม่พูดกันคงยาก เงื่อนไขชีวิตทำให้เราต้องสื่อสารกัน แต่ก็มีช่วงที่วงกลมเริ่มแยกกัน เพราะเราเคยมีช่วงที่ไปสมัคร a team junior เป็นฝันวัยเด็กที่อยากทำงานนิตยสาร a day แล้วแววก็เริ่มทำหนังสือทำมือ พอไปสมัคร เขาเลือกแค่คนเดียว เขาสัมภาษณ์แยก แต่เขาถามคำถามเดียวกันคือ 

WAEW: ‘ถ้าต้องเลือกคนเดียว คิดว่าควรจะเลือกใคร’ 

WAN: คำถามว่าพีคแล้ว ความพีคถัดมาคือวรรณตอบว่าให้เลือกแวว เพราะถ้ามีงานด้านนี้เข้ามา อยากให้แววได้ทำ เพราะแววเรียนเศรษฐศาสตร์มา ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำ 

WAEW: แววตอบว่าให้เลือกแวว เพราะเหตุผลเดียวกัน ซึ่งไม่ได้เตี๊ยมกันมาก่อน

WAN: แต่สุดท้ายเขาเลือกวรรณ แววคงรู้สึกอกหักนิดหน่อยว่าทำไม 

WAEW: เขาไม่เลือกสองคนก็เลยไม่ได้ซูเปอร์ไซย่า แต่มองย้อนกลับไปเราก็เข้าใจได้ เพราะวรรณก็มีผลงาน และรับสมัครแค่ 15 คน มองในภาพรวมเขาคงไม่ได้อยากให้มีแฝด 

WAN: แต่มีแฝดเพื่อนเราคู่หนึ่งยื่นเงื่อนไขเวลาสมัครงานทุกที่เลยว่าต้องเลือกทั้งสองคน มันไม่แยกกัน ไม่เอาก็ไม่ต้องเอา ตอนนั้นเป็นจุดที่คนที่จะเลือกเราหรือไม่เลือกเรา ช่วงที่เราไปมีสังคม ไปทำงาน แววก็อยู่บ้าน แล้วเป็นปมไหม รู้สึกยังไง (หันไปถาม)

WAEW: จ๋อย ๆ แหละ เราไม่ถูกเลือก เราเป็นเด็กเสดสาดที่พยายามขวนขวายจะข้ามสายไปนิเทศ

LIPS: แล้วทำไมไม่เลือกนิเทศแต่แรกล่ะ

WAEW: เก่งเลขค่ะ

WAN: ไม่เก่งเลขค่ะ

WAEW: มาชอบทำหนังก็เพราะไปช่วยวรรณทำหนังสั้นนี่แหละ มันก็เป็นบทเรียนให้เรารู้ว่านอกจากความต้องการของเราแล้วก็ยังมีความต้องการของโลก ซึ่งอาจไม่ได้ตรงกับความต้องการของเรา

LIPS: เวลากำกับทำอย่างไร ใครสั่งคัท

WAEW: จะหันมาถามกันก่อน แต่บางทีจุดเถียงมันยาว ผู้ช่วยผู้กำกับก็จะวอบอกว่า ‘แป๊บนึง รอพี่ววเถียงกันก่อน’ แต่ส่วนใหญ่จะใจตรงกัน เทคที่ชอบจะเหมือนกัน แต่นาน ๆ ทีก็อาจจะเถียงกันบ้าง 

WAN: บางทีก็โวยใส่กัน ‘อ้าว ทำไมแกไม่สั่งคัทล่ะ วออยู่ไหน’ (หัวเราะ) กระบวนการที่ทำมาก็รู้สึกพึงพอใจกับมันแล้ว แต่อีกความมุ่งหวังหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวคือ เราเป็นคนคร่อมระหว่างสายแมสกับสายอินดี้ เรามองว่าในเมืองไทยไม่มีพื้นที่ให้คนตรงกลางเลย จะมีแต่สายแมสโฉ่งฉ่างไปเลย หรือไม่ก็สายอินดี้เป็นศิลปะแลเป็นกวีมาก เราเห็นว่าหนังเมืองนอกมีคนที่อยู่แถว ๆ นี้นะ เช่น หนังเรื่อง Beginners หรือ Little Miss Sunshine หนังที่ไม่ต้องฟอร์มใหญ่ มีดาราเบอร์ต้น เล่าเรื่องเล็ก ๆ ของมนุษย์เล็ก ๆ ในเมืองไทยไม่เคยมีหนังแบบนั้นไม่ได้ความว่าคนไทยจะไม่ชอบ หนังเรื่องนี้อาจจะเป็นรสชาตินั้นบ้าง อยากเป็นหนังอีกประเภทที่อยากให้คนลองเสพ

WORDS: SUPHAKDIPA P.

PHOTOS: SOMKIAT K.

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม