Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

‘When Mass Fashion is More Sustainability’ เมื่อแบรนด์แมสหันมาใส่ใจเรื่องความยั่งยืนไม่แพ้แบรนด์ไฮแฟชั่น

ความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของเหล่าแบรนด์แมสและแบรนด์แฟชั่นรวดเร็ว
Fashion / Style File

อยากที่ทุก ๆ คนรู้กันว่า ประเด็นด้าน ‘Sustainability’ หรือ ‘ความยั่งยืน’ เป็นสิ่งที่หลายคนเริ่มให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้โลกของเราคงอยู่ต่อไปนานที่สุด ยิ่งในวงการแฟชั่นที่ขึ้นชื่อว่า ติดอันดับต้น ๆ ประเภทอุตสาหกรรมที่บ่อนทำลายโลกของเรา มาวันนี้ก็เริ่มชูนโยบายเรื่องความยั่งยืนเป็นจุดมุ่งหมายหลัก ไม่แพ้เรื่องของการสร้างยอดขายเลย ทำให้เราเห็นเหล่าบริษัทสินค้าลักชูรี เจ้าของแบรนด์ไฮแฟชั่นต่าง ๆ นั้นก็ออกมาเคลื่อนไหวด้านความยั่งยืน เพื่อลดก๊าซคาร์บอนให้น้อยที่สุด ตัวอย่างเช่น LVMH, Kerring หรือ Richmont 

บริษัทสินค้าลักชูรีเหล่านี้ล้วนออกนโยบายต่าง ๆ ให้แบรนด์ลูกในเครือของพวกเขาต้องใส่ใจ และดูแลสภาพแวดล้อมให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย Fur-Free หรือการปฏิเสธการใช้ขนสัตว์ในอุตสาหกรรมแฟชั่น รวมไปถึงนโยบายเกี่ยวกับ Carbon Zero หรือ Carbon Neutral ที่หลาย ๆ อุตสาหกรรมนั้นตั้งเป็นปณิธานหลัก เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้กลายเป็นศูนย์ หรือปล่อยน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีสที่เกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมโลก หรือ COP 

แต่หลาย ๆ คนอาจไม่รู้ว่า ไม่ใช่แค่เหล่าแบรนด์ลักชูรีแฟชั่น หรือไฮแฟชั่นเท่านั้นที่ตระหนักถึงเรื่องความยั่งยืนเหล่านี้ เพราะว่าเหล่าแบรนด์ Mass Fashion และแม้แต่ Fast Fashion นั้นก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นเหล่านี้ เพราะพวกเขาถูกสังคมมองว่าเป็น ‘ผู้ร้าย’ ตัวฉกาจของวงการแฟชั่นที่บ่อนทำลายโลก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงสินค้าไฮแฟชั่นได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าราคาของสินค้าเหล่านั้นแพงมาก ทำให้สายแฟหลายคนยังต้องอุดหนุนแบรนด์ Fast Fashion เหล่านี้อยู่ ดังนั้นหากเป็นไปได้เราก็ควรเป็นส่วนหนึ่งในการตระหนักรู้เพื่อช่วยเหลือโลกของเรา โดยการสนับสนุนแบรนด์ Mass และ Fast Fashion ที่มีนโยบายใส่ใจสิ่งแวดล้อม

เรามาดูความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ของวงการ Mass Fashion และ Fast Fashion ที่เคลื่อนไหวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้โลกของเรานั้นยั่งยืน และเพื่อให้ผู้บริโภคนั้นได้ใช้สินค้าแฟชั่นที่ราคาเป็นมิตรแถมยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Inditex

‘Inditex’ บริษัทเสื้อผ้ายักษ์ใหญ่สัญชาติสเปนซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์ Fast Fashion หลาย ๆ แบรนด์ เช่น Zara, Bershka และ Pull&Bear ซึ่งบริษัทนี้ถือเป็นบริษัทที่ผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก Inditex เป็นอีกหนึ่งในบริษัทที่เรียกว่าจัดจำหน่ายเสื้อผ้าจำนวนมหาศาลและนั่นหมายถึงบริษัทนี้จะต้องใช้พลังงานและปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก ไม่แปลกเลยที่บริษัทตัวพ่อด้าน Fast Fashion แห่งนี้จะลุกขึ้นมาออกนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อทำให้โลกของเรานั่นน่าอยู่ขึ้น

ซึ่งนโยบายแรกที่แบรนด์ออกมานั่นก็คือ ‘การใช้วัสดุในการผลิตที่มีความยั่งยืน’ โดยที่แบรนด์จะใช้ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน และโพลีเอสเตอร์ที่ออร์แกนิกและมาจากการรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2025 และผลิตเส้นใยวิสโคส (Viscose) เส้นใยกึ่งสังเคราะห์ที่ทำมาจากธรรมชาติให้มีความยั่งยืน 100% ในปี 2023 ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้จะทำให้แบรนด์ในเครือ Inditex นั้นลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมได้เป็นจำนวนมากเพราะเส้นใย 4 ชนิดนี้ถือเป็น 90% ของเส้นใยทั้งหมดที่ใช้ผลิตเสื้อผ้าของแบรนด์ในเครือ Inditex เลย 

เราขอพาทุกคนลงลึกไปในการเคลื่อนไหวด้านความยั่งยืนเรื่องนี้ของ Inditex เพื่อกันข้อครหาว่าเป็นการกระทำฟอกเขียว (Greenwashing) อย่างแรกคือผ้าฝ้ายที่ Inditex ผลิตจะต้องผลิตตามแนวคิด Better Cotton Initiative ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรเพื่อนำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างที่สองก็คือโพลีเอสเตอร์ที่ใช้กับแบรนด์ในเครือ Inditex นั้นเกิดจากการรีไซเคิลมาจากขยะพลาสติกที่จะต้องถูกฝังเพื่อย่อยสลาย รวมถึงกระบวนการผลิตของโพลีเอสเตอร์นั้นใช้พลังงานน้อยกว่าวัสดุบริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก

นโยบายที่สองของ Inditex ที่ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก็คือ ‘การประหยัดพลังงานภายในร้าน’ กล่าวคือหน้าร้านของ Zara จะต้องประหยัดพลังงาน 100% ภายในสิ้นปี 2019 หากใครเป็นแฟนแบรนด์ Fast Fashion แบรนด์นี้จะเห็นได้ว่าเมื่อสองปีก่อนหน้าร้านของ Zara มีการรีโนเวทเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายนี้ของ Inditex โดยใช้ไฟฟ้าน้อยลง 20% และใช้น้ำน้อยลง 40% นอกจากนั้นยังมีการนำเอาพลังงานกว่า 80% ที่ใช้ในหน้าร้าน ศูนย์กระจายสินค้าและสำนักงานต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ภายในปี 2025 ด้วย 

H&M Group

‘H&M Group’ อีกหนึ่งบริษัทเสื้อผ้าขนาดใหญ่ที่เปรียบเสมือนคู่แข่งคนสำคัญของ Inditex ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์เสื้อผ้าหลายๆ แบรนด์ เช่น H&M, COS, & Other Stories รวมถึงแบรนด์ Arket ด้วย H&M Group ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทด้านแฟชั่นที่มุ่งมั่นใช้วัสดุในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยแบรนด์ได้มีนโยบายที่จะใช้วัสดุ 100% ที่ทำมาจากการรีไซเคิลหรือมาจากกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนภายในปี 2030 

หมายความว่า H&M Group ต้องการให้กระบวนการการผลิตของแบรนด์แฟชั่นในเครือนั้นมีกระบวนการผลิตที่เป็นวงกลม 100% หมายถึงผลิตภัณฑ์ทั้งหมดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และสามารถย่อยสลายได้ทั้งหมด ในปี 2019 วัสดุทั้งหมดถูกนำไปรีไซเคิลและได้มาจากแหล่งวัสดุที่ยั่งยืนตามเกณฑ์ ‘Material Sustainability Index’ หรือดัชนีความยั่งยืนของวัสดุ ซึ่งหากทำให้กระบวนการผลิตนั้นเป็นวงกลมได้โดยสมบูรณ์ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะจะสามารถลดใช้ทรัพยากรในแฟชั่นรวดเร็วได้จำนวนมหาศาลและเป็นการต้นแบบของวงจรในการผลิตเสื้อผ้าแบบใหม่โดยนำเอาเสื้อผ้าเก่ามาผลิตใหม่ได้แบบ 100%

อีกหนึ่งการเคลื่อนไหวของบริษัทนี้ก็คือ ‘การลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์’ เพื่อให้สภาพภูมิอากาศของโลกนั้นเป็นเชิงผลโดยมีตั้งจุดมุ่งหมายไว้ในปี 2040 โดยบริษัทตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและชดเชยคาร์บอนซึ่งในปี 2019 บริษัทสามารถดำเนินการได้กว่า 40% แล้วและยังมีนโยบายในการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในองค์กร 

ซึ่งหากลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ H&M Group จะเป็นกุญแจดอกสำคัญของวงการแฟชั่นที่ช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นต้นแบบของหลายๆ แบรนด์ให้หันมาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้เพราะ H&M Group ได้ล้ำหน้ากฎบัตรของอุตสาหกรรมแฟชั่นกว่า 10 ปีในการเป็น Carbon Neutral หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ซึ่งตั้งจุดมุ่งหมายไว้ในปี 2050

Uniqlo

‘Uniqlo’ แบรนด์แมสแฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่นที่มีสาขาอยู่ในอีก 14 ประเทศทั่วโลกเป็นอีกหนึ่ง Mass Fashion ที่ได้รับความนิยมในหมู่สายแฟเพราะคุณภาพของสินค้าและดีไซน์ที่เรียบง่ายเหมาะสำหรับทุกคนซึ่ง Uniqlo เป็นอีกหนึ่งแบรนด์แมสที่ออกมาเคลื่อนไหวและมีนโยบายเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมดังต่อไปนี้

นโยบายแรกของ Uniqlo ที่ออกมาก็คือ ‘ลดการปล่อยสารเคมีอันตราย’ Uniqlo มีจุดมุ่งหมายที่จะปล่อยสารเคมีให้กลายเป็นศูนย์ภายในปี 2020 โดยกำจัดสารต่างๆ อย่างสมบูรณ์ตลอดห่วงโซ่อุปทานและกระบวนการผลิตของแบรนด์ โดยทาง Uniqlo ได้เปิดเผยชื่อสารเคมีอันตรายต่างๆ ไว้บนเว็บไซต์ของแบรนด์ นโยบายนี้ของ Uniqlo นั้นสอดคล้องกับแคมเปญ ‘Detox My Fashion’ ของ Greenpeace ที่เรียกร้องให้แบรนด์ต่างๆ จัดการกับมลพิษทางน้ำที่เกิดจากของเสียทางเคมีเพราะว่ามลพิษทางน้ำที่เกิดจากอุตสาหกรรมทั่วโลกกว่า 20% นั้นเกิดจากการย้อมสีและบำบัดสิ่งทอ

นโยบายที่สองนั่นก็คือ ‘ลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง’ ขยะพลาสติกซึ่งเป็นของเสียอันดับหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อโลกใบนี้ หากใครเป็นแฟนคลับของแบรนด์ Uniqlo จะเห็นได้ว่าภายในปี 2020 แบรนด์เลิกใช้ถุงพลาสติกและหันมาใช้ถุงกระดาษแบบ 100% ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของแบรนด์ที่จะลดการใช้พลาสติก Single-Use ของแบรนด์ให้ได้ 85% ภายในปีนั้น ซึ่งทาง Uniqlo นั้นเปลี่ยนจากถุงพลาสติกให้กลายเป็นถุงกระดาษใน 12 ประเทศตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2019 และเลิกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกในสินค้าบางไอเท็มซึ่งจะสามารถช่วยลดขยะพลาสติกประมาณ 7,800 ตันต่อปี 

Mango

อีกหนึ่งบริษัทแฟชั่นรวดเร็วที่มาจากประเทศสเปนอย่าง ‘Mango’ เป็นอีกหนึ่งแบรนด์แฟชั่นที่มีชื่อเสียงระดับโลกและได้รับความนิยมมากๆ ในหมู่สายแฟซึ่งแบรนด์นี้เองก็เป็นแบรนด์แฟชั่นรวดเร็วที่ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจนต้องออกมาเคลื่อนไหวทางด้านนโยบายเพื่อรักษาโลกของเราให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด นโยบายแรกที่ทาง Mango ออกมาก็เป็นในประเด็นของ ‘วัสดุและกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน’ 

Mango กล่าวว่าจำนวนเสื้อผ้าที่ผลิตอย่างยั่งยืนทั้งในด้านวัสดุและกระบวนการจะเพิ่มขึ้นสองเท่าจากปี 2017 และ 2018 และจะกลายเป็น 100% ภายในปีนี้ โดยทางแบรนด์ได้ใช้เส้นใยรีไซเคิลและเส้นใยสังเคราะห์จากธรรมชาติเพื่อทำให้เสื้อผ้าของ Mango นั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นกระบวนการผลิตนั้นจะต้องเป็นกระบวนการที่ปราศจากข้อสงสัยหรือเรียกง่ายๆ ว่า Mango จะกลายเป็นแบรนด์ที่โปร่งใส 100% แต่ข้อเสียของ Mango คือถึงแม้จะใช้วัสดุที่ยั่งยืนแต่ไม่ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเหมือนสามแบรนด์ที่ผ่านมา 

แต่ถึงอย่างไร Mango ก็ยังออกนโยบายอีกข้อเพื่อให้เท่าทันกับเทรนด์ความยั่งยืนนั่นก็คือ ‘การใช้ผ้าฝ้ายจากแหล่งการผลิตที่ยั่งยืน’ โดยทางแบรนด์กล่าวว่า 50% ของฝ้ายทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตเสื้อผ้าจะมาจากแหล่งที่ยั่งยืนและเชื่อถือได้ ซึ่ง Mango ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ได้อยู่ในการลงนามกับ Better Cotton Initiative องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ แต่มีรายงานว่าการดำเนินงานของ Mango นั้นไม่ได้เป็นไปตามคำมั่นสัญญาและยังมีการถกเถียงกันว่าผ้าฝ้ายจากโครงการนี้อาจจะไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 100% 

จากข้อพิพาทนี้ของแบรนด์ Mango ทำให้เราเห็นว่าผู้คนทั่วโลกนั้นตระหนักและให้ความใส่ใจในด้านสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น มีหลายหน่วยงานและองค์กรที่สอดส่องความโปร่งใสของอุตสาหกรรมทั่วโลก และสำหรับในวงการแฟชั่นไม่ใช่แค่เฉพาะแบรนด์ High Fashion เท่านั้นที่ออกมารักษาสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ไว้แต่แบรนด์ Fast Fashion และ Mass Fashion ที่ถึงจะได้บทเป็นวายร้ายเบอร์หนึ่งพวกเขาก็พยายามออกมาเคลื่อนไหวเพื่อรักษาโลกของเราและแบรนด์เหล่านี้อาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อยในการปรับตัวให้เข้ากับคำว่า ‘ยั่งยืน’ มากที่สุดและทำให้กระบวนการผลิตของเขานั้นใสสะอาด 100% ให้กลายเป็น ‘แบรนด์แฟชั่นที่รวดเร็ว’ ที่สามารถรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน 

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม