Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Fashion

THE NEW WAVE HAS BEGUN

พบกับ 5 ดีไซน์เนอร์มากความสามารถจากเวทีประกวดแฟชั่นที่ถูกจับตามอง
Fashion

The Power of Creativity

คุณค่าและความงามของผ้าไทย ในวันนี้ได้ถูกนำมาต่อยอดและเล่าขานผ่านผลงานการออกแบบที่มีความร่วมสมัย ภายใต้แนวคิด “ไทยใส่สบาย” โดยนักออกแบบรุ่นใหม่ในโครงการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัย (Contemporary Fashion Competition 2022) ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งล่าสุดได้ประกาศผล 5 ผู้ชนะการประกวดในโครงการ พร้อมมอบโล่รางวัลและเงินรางวัลรวม 160,000 บาทในค่ำคืนแห่งเกียรติยศที่ผ่านมา

โครงการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัยที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มีโจทย์ให้นักออกแบบนำผ้าไทย ซึ่งถือว่าเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญมาใช้เป็นวัตถุดิบ ในการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบให้เป็นเครื่องแต่งกายที่มีความร่วมสมัย เพื่อให้เห็นว่าผ้าไทยสามารถนำมาตัดเย็บให้สวยงาม สวมใส่ได้สบายในทุกกลุ่มคน ในทุกเพศ ทุกวัย โดยมีผลงานที่ส่งเข้าร่วมการประกวดกว่า 88 ภาพผลงานจากทั่วประเทศ โดยเหล่าดีไซเนอร์มืออาชีพระดับแถวหน้าของไทยร่วมพิจารณาคัดเลือกผลงานที่มีความโดดเด่นจำนวน 12 ภาพผลงานในรอบสุดท้าย ก่อนประกาศผลรางวัลและมอบโล่เกียรติยศให้กับผู้ได้รับรางวัล 5 คนสุดท้าย พร้อมชมการแสดงแฟชั่นโชว์ 24 ชุดผลงานจากผู้เข้ารอบ 12 คนสุดท้าย โดยเหล่านางแบบและนายแบบที่มีชื่อเสียง  

สำหรับผู้ที่คว้ารางวัลชนะเลิศและโล่รางวัลเกียรติยศในครั้งนี้ คือ นายนรบดี ศรีหะจันทร์ ที่นำเสนอผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายภายใต้แนวคิด “RE อีสาน” ด้วยแรงบันดาลใจสำคัญที่ได้รับจากปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะเสื้อผ้ามาเป็น “แฟชั่นหมุนเวียน” จึงเกิดแนวคิดในการสร้างสรรค์ด้วยการ Upcycling โดยการรับซื้อและนำผ้าไหมมือสอง และเศษผ้าไหมที่เหลือจากการตัดเย็บจากชาวบ้านในท้องถิ่น จังหวัดสุรินทร์ มาทำคอลเล็กชั่น

 “รู้สึกดีใจมากครับที่ทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ได้จัดโครงการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัยขึ้น เพราะเป็นเวทีที่เปิดกว้างทางความคิด ในเรื่องของผ้าไทยที่บ้านเป็นข้าราชการ ทุกคนจะใส่ผ้าไทย เราก็เห็นว่าจริงๆ แล้วผ้าไทยสวย มีเอกลักษณ์ แต่คนไทยไม่กล้าที่จะใส่เพราะกลัวเชย ซึ่งปัจจุบันนี้ในเรื่องของการออกแบบตัดเย็บมีความร่วมสมัยมากขึ้น ผ้าไทยสวยมากๆ และใส่สบายมากๆ คือ อยู่ที่ว่าเราเลือกผ้าชนิดไหน แล้วเรานำมาออกแบบอย่างไร ตัดเย็บอย่างไร ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ ให้เข้ากับอากาศ การใช้ชีวิต” 

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับโล่รางวัลเกียรติยศตกเป็นของ นายไอสยา โอวาท ที่นำเสนอผลงานการออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแบบเรียนวิชาภาษาไทยที่อยู่ในความทรงจำภายใต้แนวคิด “มานะ มานี ปิติ  ชูใจ” ผลงานที่ได้นำความเป็นไทยในยุคต้นกำเนิดมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านผ้าไหมแต้มหมี่ จังหวัดขอนแก่น บ้านหัวฝาก

“…อย่าง คอนเซ็ปต์ มานะ มานี ปิติ ชูใจ ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือภาษาไทยที่เราเรียนในสมัยยุค 90 ซึ่งเด็กสมัยใหม่อาจไม่รู้จัก เราได้นำเอาชุดของ มานะ มานี ซึ่งเป็นชุดนักเรียนในหนังสือมาปรับให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ให้ใส่สบายยิ่งขึ้นโดยผ้าที่เราใช้เป็นผ้าไหมมัดหมี่ทอมือของจังหวัดขอนแก่น โดยใช้เทคนิคการเลเซอร์คัทตัวอักษรเนื้อหาการเรียนการสอนมาเรียงร้อยเป็นลายผ้า ชูลายเส้นตัวอักษรไทยให้แลดูมีความสนุกสนานและมีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้นครับ

ด้าน นายรัฐพล ทองดี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับโล่รางวัลเกียรติยศ จากผลงานการออกแบบภายใต้แนวคิด “ผีขนน้ำ” หรือแมงหน้างาม ประเพณีท้องถิ่นของประชาชนลุ่มน้ำโขง กลุ่มวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่สืบสานกันมายาวนานของชาวบ้านจังหวัดเลย โดยได้นำผ้าฝ้ายย้อมครามที่มีสีสันสวยงามตามธรรมชาติมาใช้ในการออกแบบตัดเย็บ

“ผีขนน้ำ เป็นคอนเซ็ปต์ดีไซน์ที่ได้รับแรงบันดาลใจสำคัญมาจากการละเล่นพื้นบ้านที่สืบสานกันมายาวนานของชาวบ้านจังหวัดเลย โดยการออกแบบตัดเย็บผมเลือกใช้ผ้าย้อมครามมาตัดเย็บด้วยการใช้เทคนิคแพทเวิร์คผสานเข้ากับชิ้นงานโครเชต์ที่ทำจากเส้นฝ้ายเข็นมือ ถักทอขึ้นมาด้วยลวดลายที่เรียบง่าย ที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติ รู้สึกสบาย ใส่ได้บ่อยๆ  

…กับคำว่าผ้าไทย ผมในฐานะนักออกแบบที่ในวันนี้เราต้องนำเสนอผลงานภายใต้แนวคิด ไทยใส่สบาย รู้สึกดีมากเลยครับกับการที่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งช่วยส่งเสริมในเรื่องของผ้าไทย เปิดเวทีให้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้แสดงศัยภาพ เพราะคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยยังมีความคิดว่า คนใส่ผ้าไทยต้องมีอายุ ต้องใส่ไปวัด ใส่ไปทำบุญ แต่ตอนนี้ผ้าไทยสามารถทำให้ร่วมสมัยสามารถใส่ได้ทุกวัน ใส่ได้ทุกโอกาสแล้วในวันนี้”

นอกจากนี้ยังได้มอบรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัลให้แก่         นายฬียฑา ชลิตณัฐกุล ที่นำผ้าบาติกของภาคเหนือและภาคใต้จากกลุ่มผู้ประกอบการ เก๋ บาติก และ AKARA BATIK มาผสมผสานด้วยเทคนิคฟรีแฮนด์ ภายใต้แนวคิด “AFTER LIFE ความเชื่อหลังความตาย” 

“กับโครงการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายที่ทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ก็มาประกวดทุกปี อยากหาความรู้ใหม่ๆ อยากพัฒนาตนเอง กับครั้งนี้เลือกที่จะนำเสนอผลงานภายใต้แนวคิด “AFTER LIFE ความเชื่อหลังความตาย” นำเอาเรื่องความเชื่อหลังความตายที่เป็นนามธรรมมาทำให้เป็นรูปธรรมในรูปแบบของเสื้อผ้า โดยนำดีไซน์ของชุดคลุมซิสเตอร์ชุดคลุมของคริสต์มาผสมผสานเข้ากับดีไซน์การรูดมัดคล้ายกับการมัดตราสัง โดยใช้ผ้าไหม 2 เส้นทำลายบาติกเป็นลายฝ่ามือ ลายนิ้วมือ สื่อถึงความเป็นรูปธรรม

…กับโครงการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายในครั้งนี้ ทำให้เราเห็นว่าในระยะเวลาที่ผ่านมา ในส่วนของภาครัฐได้พัฒนาในเรื่องของผ้าไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการจัดให้มีโครงการประกวดต่างๆ ก็เป็นเวทีที่ทำให้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถทั้งยังสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้กับคนในสังคมรวมทั้งผู้ประกอบการด้านผ้าไทย รวมถึงการลงไปในพื้นที่ไปช่วยชาวบ้าน ซึ่งส่วนตัวมีโอกาสได้ลงไปในพื้นที่ภาคใต้ ได้เห็นว่าคุณป้าที่ทำผ้าบาติก จากที่มีความคิดว่า อย่าทำ ทำแล้วจะขายใครตอนนี้มีแรงบันดาลใจว่า วันนี้จะทำอะไร วันนี้จะทำให้ใคร มีความสุข”

และ นายธนกานต์ พันธุ์สุข ที่นำผ้าฝ้ายและผ้าใยกัญชงทอมือของผู้ประกอบการในจังหวัดลำปางมาสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด “ฮักหนา ก๋าไก่”

“ฮักหนา ก๋าไก่ ในความหมายที่ต้องการจะสื่อสารออกไป คือ รักนะ ถ้วยตราไก่ เพราะลำปางเป็นบ้านเกิดของเรา เราเห็นถ้วยตราไก่มาตั้งแต่เด็ก จนวันหนึ่งเราได้มาเป็นดีไซเนอร์ทำเสื้อผ้า ได้เข้ามาประกวดในเวทีใหญ่ในระดับประเทศ  สิ่งที่เราตั้งใจอยากถ่ายทอด คือ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ผูกพัน จากโจทย์ที่ได้รับเราจึงได้นำเอาจุดเด่นของถ้วยตราไก่นำเอาลวดลายมาผสมผสานกับผ้าฝ้ายทอมือของทางจังหวัดลำปางด้วยการเพ้นท์บาติก เป็นการนำเอาผ้าพื้นสีขาวมาทำลวดลาย แล้วมีการปักขนไก่เสริมเพิ่มมิติ ที่มีทั้งเดรสเชิ้ต กระโปรง แจ็กเก็ต ชุดเอี้ยมที่มิกซ์แอนด์แมตช์ได้สนุก

…สำหรับโครงการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายนี้ ส่วนตัวติดตามมานานแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสได้ประกวดเป็นปีแรก ปีหน้าจะมาอีก ดีใจมากที่มีโอกาสได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดีๆ ที่ช่วยทำให้คนไทยได้เห็นว่า ผ้าไทยสวยขนาดไหน ใส่สบายขนาดไหน เพราะอย่างบางคนเขาก็ไม่รู้ว่าจะใส่ผ้าไทยอย่างไร ในการจัดโครงการนี้ก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้ว่า ผ้าไทยไม่จำเป็นต้องใส่ไปวัด ใส่ไปทำบุญ จริงๆ แล้วใส่ได้ทุกวัน”

โดยนักออกแบบรุ่นใหม่ทั้ง 5 คนได้กล่าวถึงเรื่องราวของการทำงานและโครงการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัย(Contemporary Fashion Competition 2022) ภายใต้แนวคิด “ไทยใส่สบาย” เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์

“ก่อนอื่นคงต้องขอบคุณเวทีนี้ที่เปิดกว้าง ทำให้เราได้มีโอกาสปลดปล่อยไอเดีย ได้สร้างสรรค์ผลงานที่เราคิดไว้ในหัว แต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำ แต่ได้ทำให้เกิดขึ้นจริงและใช้ได้จริงในครั้งนี้  ซึ่งสิ่งที่นำมาเสนอเราพยายามหาจุดที่แตกต่าง เราเดาว่าคนอื่นคงนำเสนอเรื่อง Inspiration เราเลยเลือกที่จะนำเรื่องของกระแสที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ในตอนนี้คือ Fast Fashion มาบอกเล่า นำเอาประเด็นนี้มาพูด เพราะในส่วนของผ้าไทย ยังไม่เคยมีใครพูด คือ Fast Fashion ส่วนมากจะถูกพูดถึง Ready to wear หรือเป็นอะไรที่ Mass มากๆ ใส่ครั้งเดียว ใช้ไม่กี่ครั้งแล้วก็กลายเป็นของเก่าเก็บ หรือว่าเป็นขยะ

…สำหรับผ้าไทยจริงๆ ก็มีเหมือนกัน เลยมองว่า เราจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้นำเอาพวกเศษผ้าไทยที่คุณแม่คุณป้านำมาตัดในร้านตัดเสื้อ เป็นพวกเศษผ้าชิ้นเล็กๆ ที่เขาต้องกวาดทิ้งอยู่แล้ว  เป็นผ้าลายพื้นเมืองของอีสานครับ อย่าง ผ้าลายน้ำไหล ผ้าทอลายลูกแก้ว หรือยกดอก ซึ่งทุกอย่างเป็นเศษผ้าทั้งหมดก็เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด”

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม