Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Culture

การสมรสแห่งความเท่าเทียมสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรรู้จัก!

Culture

ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ‘การสมรสเพศเดียวกัน’ (Same-Sex Marriage) หรือในอีกชื่อที่ครอบคลุมความหมายกว่าอย่าง ‘การสมรสเท่าเทียม’ (Marriage Equality) ได้กลายมาเป็นประเด็นร้อนที่หลายประเทศและผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจและถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบ มีผู้คนจำนวนมากสนับสนุนประเด็นสังคมที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญนี้อยู่ เพราะพวกเขาเชื่อว่าความสัมพันธ์และการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติและปกติ 

อีกทั้งพวกเขายังเชื่อว่า ‘กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ’(LGBTQ+) นั้นไม่สามารถเลือกเกิดมามีรสนิยมทางเพศแบบ Hetrosexual ได้เพราะพวกเขาเกิดมาเพื่อเป็นอย่างนี้โดยไม่มีใครไปบังคับขู่เข็ญ และสุดท้ายพวกเขายังกล่าวว่าคู่รักเพศเดียวกันมีความสามารถในการสร้างครอบครัว ใช้ชีวิตคู่ และเลี้ยงลูกไม่ต่างจากคู่รักต่างเพศเลย 

แต่ในโลกปัจจุบันที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมอยู่มากทำให้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ออกมาต่อต้านการสมรสเพศเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขายก ‘ความเชื่อทางศาสนา’ (Religious Beliefs) มาต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนี้ และพวกเขายังเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันนั้นเป็นสิ่งที่ผิดและอาจจะส่งผลเสียต่อเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวเพศเดียวกันอีกด้วย มีหลายประเทศทั่วโลกที่การแต่งงานของเพศเดียวกันนั้นเป็นสิ่งที่ผิดและไม่ได้ยอมรับทางกฎหมายถึงแม้ว่าพวกเขาจะจัดพิธีแต่งงานกันอย่างเหมาะสมก็ตาม 

แต่ในเมื่อโลกเข้าสู่ยุคแห่งความหลากหลายนั้นทำให้มีหลายประเทศที่รับรองการแต่งงานของเพศเดียวกันให้ถูกกฎหมาย ทำให้คู่รักเพศเดียวกันนั้นมีสิทธิและเสรีภาพในการใช้ชีวิตคู่ไม่ต่างจากคู่รักต่างเพศเลย วันนี้เพื่อเฉลิมฉลองธีม #NEWWEDDING ที่สนับสนุนการสมรสเพศเดียวกัน เราเลยจะพาไปดู 32 ประเทศที่ทุกเพศสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมาย 

The Beginning of Marriage Equality

ในปี 2001 ประเทศเนเธอร์แลนด์กลายเป็นประเทศแรกบนโลกนี้ที่ทำให้การแต่งงานของเพศเดียวกันนั้นถูกกฎหมาย หลังจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นทำให้เห็นว่าเป็นเวลาเพียงแค่ 18 ปีที่การแต่งงานของเพศเดียวกันนั้นมีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายและได้กลายมาเป็นประเด็นสังคมที่หลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสนใจ 

และหมายความว่าคำว่า ‘การสมรสเท่าเทียม’ นั้นเกิดขึ้นมาไม่ถึงสองทศวรรษเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงในครั้งนั้นก็ทำให้อีกหลายประเทศทั่วโลกเริ่มปฏิบัติตามและทำให้การสมรสเท่าเทียมหรือการสมรสเพศเดียวกันนั้นกลายมาเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย

Current State of Marriage Equality

ปัจจุบันนี้มี 32 ประเทศทั่วโลกที่การแต่งงานของเพศเดียวกันนั้นถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมาซึ่งประกอบไปด้วยประเทศเนเธอร์แลนด์ (2001) เบลเยียม (2003) สเปน (2005) แคนาดา (2005) แอฟริกาใต้ (2006) นอร์เวย์ (2009) สวีเดน (2009) เม็กซิโก (2009) โปรตุเกส (2010) ไอซ์แลนด์ (2010) อาร์เจนตินา (2010) เดนมาร์ก (2012) บราซิล (2013) ฝรั่งเศส (2013) อุรุกวัย (2013) นิวซีแลนด์ (2013) สหราชอาณาจักร (2014) ลักเซมเบิร์ก (2015) สหรัฐอเมริกา (2015) ไอร์แลนด์ (2015) โคลอมเบีย (2016) ฟินแลนด์ (2017) มอลตา (2017) เยอรมนี (2017) ออสเตรเลีย (2017) ออสเตรีย (2019) ไต้หวัน (2019) เอกวาดอร์ (2019) คอสตาริกา (2020) สวิตเซอร์แลนด์ (2021) ชิลี (2021) และสโลวีเนีย (2022) 

นอกจาก 32 ประเทศที่เรากล่าวไปแล้วยังมีอีกหลายๆ ประเทศที่น่าจับตามองในเรื่องของการสมรสเท่าเทียมซึ่งประกอบไปด้วยประเทศแอนโดร่า คิวบา สาธารณรัฐเช็ก อินเดีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และไทยของเรานั่นเอง 

International Institutions and Marriage Equality

ถึงแม้ว่าประเด็นเรื่องของการสมรสเท่าเทียมหรือการสมรสเพศเดียวกันนั้นจะเป็นที่หลายๆ ประเทศให้ความสำคัญ และพยายามออกมาประกาศให้การสมรสเพศเดียวกันนั้นเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย แต่ก็ยังมีหลายประเทศที่ต้องการแนวทางและแรงผลักดันจากองค์กรระหว่างประเทศที่มาคอยช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา อีกทั้งยังผลักดันให้ประเทศเหล่านั้นยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกันและคนทุกเพศ 

องค์กรแรกที่เราจะพูดถึงนั่นก็คือ ‘The Inter-American Court of Human Rights’ สถาบันตุลาการอิสระของสหรัฐฯ ที่ช่วยผลักดันให้หลายๆ ประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งอเมริกานั้นทำให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมายยกตัวอย่างเช่น ในปี 2018 The Inter-American Court of Human Rights ได้ให้คำปรึกษาต่อผู้นำประเทศคอสตาริกาจะต้องทำให้การสมรสเท่าเทียมนั้นเป็นที่ยอมรับด้วยกฎหมาย ทำให้ในปี 2020 คอสตาริกาเป็นประเทศที่ 29 ของโลกที่คนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ 

องค์กรต่อมานั่นก็คือ ‘The European Court of Justice’ (ECJ) หรือศาลสูงสุดแห่งสหภาพยุโรป ซึ่งในปี 2018 ECJ กำหนดว่าทุกประเทศในสหภาพยุโรปนั้นจำเป็นต้องยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกันของพลเมืองในสหภาพยุโรปและนอกสหภาพยุโรป เพื่อจุดประสงค์ในการอพยพลี้ภัยโดยไม่คำนึงถึงว่าการสมรสของคนเพศเดียวกันนั้นถูกกฎหมายในประเทศเหล่านั้นหรือไม่ จนทำให้ศาลปกครองสูงสุดแห่งบัลแกเรียยืนยันคำตัดสินดังกล่าวในปี 2019 ว่าประเทศบัลแกเรียจะยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเพื่อจุดประสงค์ในการลี้ภัย และ ECJ ยังเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันของหลายๆ ประเทศยุโรปถูกกฎหมายอีกด้วย 

Marriage Equality in Thailand 

ประเด็นเรื่องของการสมรสเท่าเทียมในไทยนั้นทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อสนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ+ จนทำให้เกิดแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม จนขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งในโซเชียลมีเดียอยู่หลายครั้ง ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้เองทำให้เกิดการลงชื่อเรียกร้องให้มีการร่าง ‘พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ เพื่อผลักดันให้เป็นข้อกฎหมายในประเทศไทย ให้เหมือนกับ 32 ประเทศทั่วโลกที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 

ทำให้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 สภาฯ มีมติรับหลักการร่างกฎหมายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศทั้งร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งร่างกฎหมายทั้งสองร่างนี้นนั้นมีความเหมือนและความต่างอยู่ และนั่นคือ ‘สถานะทางกฎหมายของบุคคล’ ซึ่ง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะระบุว่าบุคคลทั้งสองคนเป็นคู่ชีวิตกันแตกต่างจาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่บุคคลทั้งสองจะมีสถานะเป็นคู่สมรส ซึ่งการได้รับสถานะบุคคลเป็น ‘คู่สมรส’ นั้นบุคคลที่จดทะเบียนสมรสกันจะได้รับสวัสดิการต่างๆ เหมือนคู่ชายหญิง ซึ่งต่างจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่บุคคลเหล่านี้จะไม่ได้สวัสดิการต่างๆ จากการจดทะเบียนคู่ชีวิตเลย  

เราเห็นจะได้ชัดว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม นั้นจะทำให้การแต่งงานของเพศเดียวกันและทุกๆ เพศนั้นมีสถานะเช่นเดียวกับการสมรสระหว่างชายหญิง ซึ่งเราหวังว่าร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของไทยนั้นจะถูกพัฒนาให้เป็นข้อกฎหมายที่ถูกบังคับใช้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทยเหมือนกับทั้ง 32 ประเทศที่เรากล่าวไปข้างต้น เพื่อความเท่าเทียมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และเพื่อยกระดับสถานะของชาว LGBTQ+ ให้มีความเท่าเทียมกับเพศชายและเพศหญิงเลย

#NEWWEDDING

#LIPSERA

#LIPSMAGAZINE

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม