Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

Hidden Harmony – เอก ทองประเสริฐ

คอลเล็กชั่นผ้าบาติกร่วมสมัยที่ดีไซน์มาเพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่
Interview

เมื่อความแตกต่างสอดประสานกันจนกลายเป็นความสัมพันธ์ใหม่ ความสนุกจึงบังเกิดขึ้นในชิ้นงานการรังสรรค์ผ้าบาติกร่วมสมัยของ เอก ทองประเสริฐ หนึ่งในดีไซเนอร์ในโครงการพัฒนาการออกแบบลายผ้าร่วมสมัยไทยชายแดนใต้สู่สากล ปี พ.ศ.2563 ที่ตั้งใจทลายความห่างไกลของผ้าบาติกกับวิถีชีวิตอันรีบเร่งในยุคปัจจุบัน

     เอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์ที่ตื่นเต้นกับการเสาะหาความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมของผ้าถิ่นไทย ร่วมพัฒนาผ้าบาติกในโครงการนี้เป็นปีที่ 2 เขายังคงสนุกกับการเล่าเรื่องราวบนลายผ้าที่มีการปรับเปลี่ยนได้ง่ายและหลากหลาย

     “ลักษณะเด่นของผ้าติกคือ ปรับได้ง่าย เพราะลายผ้าเป็นการเพ้นต์ติ้ง มีความฟรีในการปรับเปลี่ยน จะไม่เหมือนกับผ้าไหมมัดหมี่หรือผ้าทอยกดอกต่างๆ ที่เป็นวิถีในการทอที่เขาทำกันมาสามสิบปีหรือทั้งชีวิต จะมีการปรับเปลี่ยนยากกว่า”

     ในปีนี้เขาตั้งใจทำคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่เอื้อต่อการสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ง่าย รวมไปถึงการปรับลุคให้เหมาะกับเจเนอเรชั่นที่เด็กลง 

     “ตัวเนื้อผ้าบาติกมีความ casual สูงมาก ไม่ได้เหมาะแค่เพียงไปทะเลอย่างเดียว บาติกสามารถนำมาปรับเป็นเสื้อผ้าที่ใส่ได้ทุกวันจริงๆ ไม่ได้จำกัดแค่ว่าใส่ไปทะเล หรือใส่ได้ไม่กี่เดือนต่อปี การออกแบบจึงเน้นการขยายให้เป็นเสื้อผ้าที่ใส่ได้ไปทั้งปี โดยก้าวข้าม occasion ไป และมุ่งเป็นเสื้อผ้าสำหรับกลุ่มเจเนอเรชั่น Z และ Y ช่วงปลายๆ เพื่อปรับภาพลักษณ์ของผ้าไทยในมุมมองที่เข้ากับวิถีชีวิตคนปัจจุบันมากขึ้น” 

     คอลเล็กชั่นที่เอกเล่าถึงนี้ มีชื่อว่า Hidden Harmony ซึ่งเป็นการหยิบยกความเป็นท้องถิ่นขึ้นมาตีความใหม่ให้มีความร่วมสมัย แต่ยังคงเคารพความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้

     “สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักคือ ผ้าเป็นวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมแต่ละพื้นถิ่นจะมีบริบทและประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ผ้าบาติกส่วนใหญ่อยู่ในบริบทของมุสลิมในภาคใต้ เราก็ respect ความเชื่อและความเป็นท้องถิ่น โดยจะไม่วาดสิ่งที่เป็นกฎข้อห้ามของมุสลิม และเลือกสิ่งที่เข้ากับวิถีชีวิตของคนทำผ้ามากที่สุด ลายผ้าจึงเน้นเป็นลาย geometric และลายดอกเป็นส่วนใหญ่

     …เราหยิบลายโบราณของผ้าถุงมา re-arrange จังหวะ และ sizing ใหม่ให้ดูโมเดิร์นมากขึ้น สีที่ใช้เป็นแม่สีทั้งหมดสี่สี คือ ขาว ดำ น้ำเงิน แดง เท่านี้ เพราะอยากให้ใส่มิกซ์แอนด์แมตช์กับกางเกงดำ หรือเสื้อผ้าที่มีอยู่แล้วได้”

     อย่างไรก็ตาม การออกแบบลายผ้าของเอก เน้นการสร้างสรรค์ไปตามเทคนิคของแต่ละชุมชนเป็นหลักเสมอ

     “ในการทำงานร่วมกับชุมชน เราต้องดูก่อนว่า สิ่งที่เขาทำอยู่จริงๆ เป็นอย่างไร เทคนิคของแต่ละชุมชนเป็นแบบไหน และพยายามอย่างเต็มที่ว่าจะทำอย่างไรให้ลายผ้าเป็นการบาลานซ์ระหว่างมุมมองของเรากับของเขา ออกแบบลายให้ถูกกับเทคนิคที่เขาทำ เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการที่ต้องมานั่งทดลองใหม่ เมื่อเรารู้เทคนิคแล้วก็เอางานดีไซน์ของเราไปแมตช์ เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตและการทำงานของเขาจริงๆ แล้วงานจึงเดินต่อไปได้”

     เมื่อได้ลวดลายผ้าที่มีความร่วมสมัยลงตัวตามเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนแล้ว เอกได้เพิ่มความโดดเด่นด้วยการตัดต่อลายผ้าที่แตกต่างกันนี้เข้าด้วยกัน เพราะมีแรงบันดาลใจจากความรุ่มรวยของสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมในท้องถิ่น

“เราสังเกตเห็นลวดลายในสถาปัตยกรรมของศาสนาอิสลามในท้องถิ่น ซึ่งมีความรุ่มรวยในเชิงของการมิกซ์แอนด์แมตช์แพตเทิร์น โดยเฉพาะการใช้กระเบื้องที่ประดับในสุเหร่า ซึ่งมีความสวยงามและน่าสนใจมาก จากตรงนี้จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการตัดต่อผ้าของแต่ละชุมชน ที่มีลวดลายแตกต่างกัน มารวมไว้ในชิ้นงานเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกัน และดูสนุกขึ้น เหมือนเป็นการสร้างคาแร็กเตอร์บางอย่าง ทำให้ภาพลักษณ์ของผ้าบาติกดูสดใหม่มากขึ้น”

     ผลลัพธ์สุดท้ายของชิ้นงานต้องหยิบมามิกซ์แอนด์แมตช์กับชุดที่มีอยู่ในตู้เสื้อผ้าของคนรุ่นใหม่ได้อย่างไม่เคอะเขิน

     “เมื่อก่อนผู้ประกอบการอาจมี mindset ว่า ยิ่งเยอะยิ่งดี ซึ่งไม่ใช่ หลายคนมีศักยภาพในสร้างลายผ้าที่ละเอียดสวยงาม แต่แล้วจะทำอะไรได้ต่อ มันต้องกลายไปเป็น wall hanging เหรอ ในฐานะที่เป็นดีไซเนอร์ เราไม่เห็นภาพ ไม่ associate ว่าจะทำอะไรต่อได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไปเดินงานโอทอป ดังนั้น เราจึงปรับในเรื่องสี ไม่ต้องซับซ้อนมาก เพราะว่าคนรุ่นใหม่เขาอยากใส่ได้บ่อยๆ และต้องปรับให้ลายผ้าสามารถมิกซ์แอนด์แมตช์กับเสื้อผ้าที่มีอยู่ในตู้เสื้อผ้าได้  ตู้เสื้อผ้าของคนในปัจจุบันมีกางเกงดำ กระโปรงดำ แจ๊กเก็ตยีนส์ กางเกงยีนส์ เราต้องคำนึงถึงว่า เสื้อผ้าที่เราทำจะเข้าไปแมตช์อย่างไร”

     จากการทำงานในโครงการนี้ เอกเห็นศักยภาพในด้านต่างๆ ของผ้าบาติก ที่สามารถไปได้ไกลกว่าผ้าพื้นเมืองอื่นๆ 

     “ผ้าบาติก มี price point ต่ำ อยู่ในระดับพันต้นๆ และดูแลรักษาง่าย ซักในเครื่องซักผ้าได้ เนื้อผ้าเหมาะกับอากาศประเทศไทย ใส่มิกซ์แอนด์แมตช์กับเสื้อผ้าที่มีอยู่ได้จริง เมื่อเรามองเห็นศักยภาพเหล่านี้ก็ทำให้อยากทำต่อยอดต่อไป ตอนนี้ในหัวก็มีคิดไว้เยอะเหมือนกัน”

     อย่างไรก็ตาม การนำพาผ้าไทยร่วมสมัยให้เดินทางไปได้ไกลสู่ระดับสากล ต้องมีแรงสนับสนุนเป็นวาระสำคัญของรัฐบาล

     “โครงการที่ทำอยู่นี้ทำให้ผ้าท้องถิ่นมีความร่วมสมัยมากขึ้น แต่ก็ยังร่วมสมัยในบริบทและความเป็นอาณาเขตของอาณาจักรไทย material หลายอย่างมีมูลค่าสูงในประเทศไทย แต่ว่าในต่างประเทศเขายังไม่เข้าใจ ไม่รู้จัก นี่คือชาเลนจ์ ผ้ามัดหมี่ราคาสองสามแสน พอออกไปนอกบริบทไทย ก็ไม่ได้มูลค่าเท่านี้ เพราะต่างประเทศยังไม่เข้าใจ ถ้าเราจะทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้ไปสู่สากล ต้องเป็นสเกลการส่งเสริมของรัฐบาลที่ต้องทำอย่างจริงจัง ตราบใดที่เราส่งออกซีรีส์พีเรียดของไทยไปต่างประเทศ ไม่ได้ เราก็ไม่อาจส่งผ้าไทยไปสู่สากลได้”

     ในความคิดของเขา หมุดหมายสำคัญของการพัฒนาผ้าบาติกรวมไปถึงผ้าท้องถิ่นต่างๆ ให้มีความร่วมสมัย คือการพัฒนาที่ยึดโยงไปถึงสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของประเทศ 

     “ในฐานะดีไซเนอร์ สิ่งที่เราต้องทำคือ การพัฒนาตัวชุมชนไปพร้อมกัน ในช่วง post COVID-19 จะเห็นได้ว่า globalization ถูกเบรกออก และเข้าสู่ regionalization แล้วก็ localization การพัฒนาประเทศไทยตั้งแต่ยุคดั้งเดิมที่เน้น globalization และการปกครองที่เน้นการเป็นศูนย์รวมทุกอย่างที่กรุงเทพมหานคร โอกาสทุกอย่างอยู่ที่กรุงเทพฯ ต่างจังหวัดไม่มี ประเทศไทยจึงเป็นเหมือนต้นไม้ที่มีฐานเล็ก หัวใหญ่ เมื่อล้มแล้วจะพังกันทั้งประเทศ 

     …ดังนั้น เราจึงต้องพัฒนาชุมชนต่างจังหวัดให้แข็งแรง เพื่อให้เป็นรากของประเทศที่ใหญ่ขึ้น และเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่แท้จริง ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่สนใจสินค้าท้องถิ่น สินค้าเหล่านี้จะตายไปพร้อมกับคนทำ วัฒนธรรมจะหายไป และสิ่งที่ค้ำจุนการไหลเวียนธุรกิจของทั้งประเทศก็จะหายไปด้วยเช่นกัน”

┃Text : Charnporn K.
┃Photography : Somkiat K.  

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม