Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

From Viral to Real World – อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ

"ม๊าเดี่ยว" ดีไซเนอร์กูตูร์บ้านนาในวันที่ยอดไลค์ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิต
Interview / People

ย้อนกลับไปเมื่อราว 5-6 ปีก่อนในยุคที่ไวรัลทางอินเทอร์เน็ตเพิ่งเริ่มต้น มีใครบ้างไม่เคยเห็นภาพและคลิปแฟชั่นกูตูร์ที่ ม๊าเดี่ยว-อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ เด็กชายอายุ 15 จากขอนแก่น หยิบจับแมตทีเรียลหาได้ตามท้องทุ่งท้องนามาสร้างสรรค์ทั้งชุด พร้อมอัดคลิปใส่จริตซูเปอร์โมเดลลงไปเต็มแรง จนกระทั่งแจ้งเกิดในฐานะดาวรุ่งสายแฟในโลกอินเทอร์เน็ต หลังจากสร้างภาพจำจากความครีเอท ในการสร้างสรรค์แฟชั่นเซ็ตที่ม้าเดี่ยวทำหน้าที่เป็นทั้งดีไซเนอร์ สไตลิสต์ นางแบบ และบางครั้งก็ยังตั้งกล้องถ่ายเอง โอกาสดีๆ เกินฝันหลั่งไหลเข้ามาในชีวิตของเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งมากมาย ใครจะไปนึกไปฝันว่าทำคลิปสนุกๆ แชร์ลงโซเชียลอยู่ดีๆ วันหนึ่งจะได้มีโอกาสไปออกแบบชุดให้กับรายการ Asia’s Next Top Model แถมม๊าเดี่ยวยังจริงจังกับเรื่องแฟชั่นถึงขั้นร่ำเรียนจนจบจากสถาบัน Bunka และภายในอายุเพียงแค่ 21 ปีเด็ก Gen Z ที่คุณครูเคยมองค้อนเพราะแต่งชุดนักเรียนไม่เหมือนเพื่อนๆ ก็ได้เป็นอาจารย์สอนคนรุ่น Gen X เกี่ยวกับเรื่องผ้าท้องถิ่นไปเสียแล้ว 

ลิปส์ : เราไม่ได้เห็นม๊าเดี่ยวตามสื่อต่างๆมานานเหมือนกันแถมเท่าที่เข้าไปดูในโซเชียลก็ไม่ค่อยเห็นพวกคลิปหรือรูปแฟชั่น DIY สไตล์ม้าเดี่ยวอีกแล้วอยากรู้จังว่าม๊าเดี่ยวหายไปทำอะไรอยู่
อภิเชษฐ์ : ตอนนี้ม๊าเดี่ยวกำลังทำแบรนด์ผ้าไทยอยู่ เราเอาผ้าไทยที่ชาวบ้านทอเองมาทำ แล้วก็ยังทำเวิร์คช็อปให้กับทางสวทช. จังหวัดลำพูนด้วย ม๊าเดี่ยวไปเป็นครูที่ลำพูน สอนคนที่อยู่บนเขาที่มีวัสดุดีๆ มีผ้าสวยๆ ให้เขาทำผลิตภัณฑ์ หรือว่าแฟชั่นออกมาให้ประสบความสำเร็จ สนุกดีค่ะ ทำงานกับคน คนละเจนฯ กับตัวเอง ก็มีความยากง่ายต่างกัน แล้วก็เปิดร้านส้มตำที่บ้านที่ขอนแก่นด้วยค่ะ

ลิปส์ : อายุ 21 ปีเรียนจบได้เป็นครูแล้วถือว่าไวมากเกิดอะไรขึ้นหลังจากคลิปเรากลายเป็นไวรัลในอินเทอร์เน็ตบ้าง
อภิเชษฐ์ : ตอนนั้นอยู่ชั้นม.3 ต้องออกจากโรงเรียนเพราะว่า คุณครูเขาไม่ค่อยแฮปปี้ที่เราทำแบบนี้  เขาบอกว่า เราไม่ตั้งใจเรียน เราไม่ concentrate กับการเรียน  เราก็เลยออกมาเรียนกศน. แป้บเดียวก็จบม.6 แล้ว ก็คิดว่า ตัวเองตัดสินใจไม่ผิดนะคะ เพราะเคยคิดอยู่แล้วว่า ไม่อยากเรียนม.ปลายที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว อยากทำงานก่อนหาประสบการณ์ก่อนมากกว่า 

ลิปส์ : แต่ย้อนกลับไปตอนนั้นมันเป็นยุคที่พ่อแม่ก็ต้องคาดหวังให้เราเรียนตามระบบหรือเปล่า  
อภิเชษฐ์ : ถ้าเป็นพ่อแม่คนอื่นเขาจะคาดหวัง แต่พ่อแม่ม๊าเดี่ยวเขาอย่างไรก็ได้เลย เราก็ได้พิสูจน์ด้วยแหละว่า เราไปหนทางนี้ได้นะ เพราะตอนแรกพ่อแม่ก็อยากให้ทำงานราชการอยู่ เพราะมันเป็นอาชีพที่มั่นคง แต่ส่วนตัวเราไม่ชอบ เราก็ขอทำตามที่เราอยากทำ พ่อแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไรนะคะ ก็ทำเลยค่ะ 

ลิปส์ : สมัยอยู่ในโรงเรียนเราขัดแย้งกับครูบ่อยไหม
อภิเชษฐ์ : ขัดแย้งค่ะ เราจะชอบทำอะไรที่ไม่แคร์คนอื่น ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ก็อย่ามายุ่งกับเรา อย่างเรื่องการแต่งตัว อย่างการตัดผม 

“การแต่งตัวบางทีเราก็ชอบใส่เสื้อนักเรียนตัวใหญ่ๆ ฟีลเท่ๆ แล้วคุณครูเขาก็จะมองว่า เราดูไม่เหมือนคนอื่นนะ ซึ่งม๊าเดี่ยวคิดว่า มันถูกระเบียบ แต่อาจจะไม่ถูกเข้าตาครู  เหมือนทำตัวเด่นเกินไป เราแค่ไม่เหมือนคนอื่น เราก็โดนตัดสินว่าเราเป็นคนไม่ดี คุณครูเขาก็ไม่ค่อยแฮปปี้กับเรามากเท่าไร”

ลิปส์ : ตอนที่เราเพิ่งเข้าสู่โลกโซเชียลมีชื่อเสียงบนอินเตอร์เน็ตตอนนั้นคิดไหมว่าพลังโซเชียลจะมหาศาลขนาดนั้น
อภิเชษฐ์ : จริง ๆ ส่วนตัวเป็นคนไม่ค่อยชอบเล่นโซเชียล ไม่ได้ติดโซเชียลอยู่แล้ว ตอนแรกเราไม่ได้ทำเพื่อที่จะหวังให้ถึงทุกวันนี้อยู่แล้ว  เราทำสนุกๆ เราทำให้เพื่อนดูขำๆ แต่พอเราลงไปเรื่อยๆ ก็มีคนมาติดตาม มีคนชอบ เราก็เริ่มคิดว่า จริงๆ ทางนี้ก็หาเงินได้มาก  เริ่มเห็นผลมาก ๆ ตอนประมาณปีที่ 2 ปีแรกมีผลงานดังก็จริง แต่ว่า บางคนเขาก็ยังไม่มั่นใจว่าจริง ๆ แล้วเราเป็นคนทำชุดเองหรือเปล่า  เราของจริงหรือเปล่า ก็เริ่มพิสูจน์ตัวเองมาเรื่อยๆ โดยการทำบ่อยๆ ทำทุกวัน แล้วก็เริ่มไปออกรายการ Asia’s Next Top Model ซึ่งจากเด็กคนหนึ่งที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่เคยไปต่างประเทศเลย ต่างจังหวัดก็แทบจะไม่ได้ไปด้วยซ้ำ แล้วครั้งหนึ่งได้ไปต่างประเทศเลย  ทำให้เรารู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่า สักวันหนึ่งจะต้องอิมแพ็คนะ 

“เรารู้สึกว่าโซเชียลเป็นแค่ช่องทางในการเปิดให้คนเห็นว่าเราทำอะไร แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าในชีวิตจริง เราไม่ทำอะไร เราก็ไม่สามารถเอามาลงโซเชียลได้อยู่แล้ว เราทำในสิ่งที่เราชอบ ยอดไลค์เป็นเหมือนกำลังใจ ให้ฮึดสู้ ยิ่งรูปไหนเราทำแล้วได้ไลค์เยอะ หรือคนพูดถึง เป็นสิ่งการันตีว่า เราทำสำเร็จแล้ว” 

ลิปส์ : ม๊าเดี่ยวจะดูเป็นเด็กที่โตกว่าเจเนอเรชั่นของตัวเองแต่จริงๆแล้วโดยอายุก็ยังถือว่าเป็น Gen Z นั่นเองมองว่าตัวเองมีความเป็นเด็กรุ่นใหม่ Gen Z ตรงไหนบ้าง
อภิเชษฐ์ : จริง ๆ แล้วเราก็เป็นเหมือนเด็กทั่วไปนั่นแหละ แต่ความที่เด็กเจนฯ นี้ สำหรับตัวม๊าเดี่ยวคิดว่าเป็นคนที่ค่อนข้าง ไม่ค่อยเชื่อขนบธรรมเนียมอะไรเก่าก่อน ผู้ใหญ่เขาก็จะพูดประมาณว่า เราเคยอาบน้ำร้อนมาก่อน แต่จริงๆ แล้วเด็กรุ่นใหม่ทุกวันนี้เขาจะมีความคิดต่อต้านนิดหนึ่ง เพราะเขารู้สึกว่า เขาได้รับความรู้ทั่วไปตั้งแต่เด็ก เพราะเด็กก็เล่นมือถือตั้งแต่เด็กแล้ว Google ได้ตั้งแต่เด็กแล้ว เด็กรุ่นนี้เป็นรุ่นที่พัฒนาเร็ว และเป็นรุ่นที่ฉลาด เขาเลยรู้สึกว่า ไม่ค่อยเชื่อฟังคนรุ่นก่อนสักเท่าไร 
     แล้วก็อีกอย่างหนึ่งคิดว่า เด็กรุ่นใหม่สมัยนี้ เด็ก Gen Z เป็นเด็กที่ไม่ค่อยเก็บเงิน เป็นคนที่มีเงินแล้วก็ใช้  อันนี้เอาตัวเองเป็นหลัก ไม่ได้รู้สึกว่า การเก็บเงินเป็นสิ่งที่ควรทำ เหมือนทุกวันนี้ ตัวม๊าเดี่ยวเอง จากที่คุยกับเพื่อน สมัยก่อนผู้ใหญ่ทุกคนมีความฝันว่าจะต้องมีบ้าน มีรถ มีทุกอย่าง แต่สมัยนี้ที่ม๊าเดี่ยวเป็นก็คือ ไม่ต้องอยู่บ้านหลังใหญ่หรอก ไม่ต้องมีบ้านหรอก ขอแค่อยู่คอนโดฯ อยู่อะไรเล็ก ๆ เราก็ใช้ชีวิตแบบอิสระ และมีความสุขได้ 

ลิปส์ : มีผู้ใหญ่เป็นไอดอลที่เราชื่นชมไหม 
อภิเชษฐ์ : เชื่อในตัวเองมากกว่าค่ะ เราแค่รู้สึกว่า คนคนนี้ทำดี ชื่นชม แต่ก็ไม่ได้ไปอินในตัวเขา เพราะทุกวันนี้มันมีอะไร “จกตา”เยอะ บางคนเราดูว่า การกระทำเขาเหมือนจะดี สิ่งที่เขาพูดมาเหมือนจะดี เราอาจจะชอบแค่จุดนี้ แต่เราไม่รู้ไงว่าข้างในเขาเป็นอย่างไร เราก็เลยไม่ได้เชื่อในตัวบุคคลขนาดนั้น

ลิปส์ : ทุกวันนี้ต้องสอนคนที่โตกว่าเราคนละเจเนอเรชั่นกันด้วยเราปรับจูนเข้าหากันอย่างไร
อภิเชษฐ์ : ตอนแรกม๊าเดี่ยวเครียดเลย  เพราะเวลาต้องไปสอนคนที่โตกว่า บางครั้งเขาอาจจะไม่ยอมรับสิ่งใหม่ๆ หรือเปล่า แล้วเราอายุแค่ 21 ปีเอง เราจะไปสอนคนอายุ 40  – 80 ปีกว่าได้อย่างไร แต่ถ้าเป็นรุ่น 50-60 ปีเขาจะรัก เขาเอ็นดูเรา เขาจะอยากได้ความรู้ใหม่ แต่ถ้าเป็นรุ่นอายุ 30 ปี เขาจะมีอีโก้นิดหนึ่ง พอเราสอนไปๆ เขาก็จะ อ๋อ…เคยทำแล้ว แล้วก็ทำไปเองเลยโดยไม่บอกเรา 
     ซึ่งตอนแรกม้าเดี่ยวคิดว่า ถ้าไม่ฟังก็ตามนั้นเลยค่ะ ก็ทำไปเลย ทำตามที่คิดนั่นแหละ แล้วเราก็ไม่ได้คอมเม้นต์อะไร แต่พอเรามาคิดอีกอย่างหนึ่ง เราอยู่ในฐานะของครู เราจะต้องหาจุดที่อยู่ตรงกลางด้วยกันให้ได้ ก็เริ่มปรับแล้ว  จริงๆ ผู้ใหญ่สมัยนี้เขารับฟังนะคะ เขารับแล้วเขาก็เอาไปปรับแก้ไขนะคะ ดีมากๆ เลยค่ะ

ลิปส์ : ในอนาคตคิดว่าจะทำอะไรสมมติเป็นดีไซน์เนอร์จุดไหนถึงเรียกว่าคอมพลีตแล้ว
อภิเชษฐ์ : วันที่ทุกคนเปิดตู้เสื้อผ้ามา จะต้องมีเสื้อผ้าของม๊าเดี่ยวอย่างน้อยหนึ่งตัวอยู่ในนั้น  แต่ว่าจริง ๆ แล้วในความคิดลึกๆ ตัวเองรู้สึกว่า คงไม่ได้ถึงจุดนั้นหรอก แต่ว่าเราจะถึงจุดที่ว่า เราทำอะไรแล้วเรามีความสุขมากกว่า อย่างเช่น อยู่บ้านจริง ๆ ใช้ชีวิตแบบมีความสุข อยู่แบบสงบ ๆ แล้วก็ทำงานโดยที่ไม่ต้องเครียด 

ลิปส์ : ในแง่สังคมล่ะในอนาคตอยากเห็นอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างอย่างช่วงนี้เรื่องผลักดันพ.ร.บ.คู่ชีวิตกำลังมาเลยส่วนตัวคิดว่าอย่างไร
อภิเชษฐ์ : มันไม่จำเป็นที่จะต้องมีพ.ร.บ.คู่ชีวิตก็ได้ จริงๆ เราจะเป็นใคร เราจะเป็นเพศไหน เราไม่ต้องไปจำกัดก็ได้ ทุกคนมีสิทธิ์รักกัน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแต่งงานกัน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้อยู่ด้วยกันแบบชายหญิง ทุกวันนี้เราอยากใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับใคร เราก็อยาก 100%  หมายถึง ไม่ว่าจะเป็นในด้านทางกฎหมายแบบชายหญิงจริงๆ เรามองว่า จริงๆ แล้วพอยต์หลักไม่ได้อยู่ที่ว่าจะมีพ.ร.บ.หรือไม่มี พ.ร.บ. หรือว่าไม่มีอะไร พอยต์หลักคือ ทุกคนมีสิทธิ์รักกันได้ และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแต่งงานกันได้ 

ลิปส์ : ส่วนตัวมองว่าเด็กรุ่นประมาณม้าเดี่ยวเจนฯนี้เขาไม่ค่อยสนเรื่องเส้นแบ่งทางเพศแล้วหรืออะไรอย่างนี้หรือเปล่าหรือการบูลลี่กันเรื่องเพศที่สามยังมีอยู่ไหม 
อภิเชษฐ์ : เด็กรุ่นใหม่สมัยนี้ เปิดกว้างมากๆ เปิดกว้างที่สุดแล้วที่เคยเปิดมา ตามความรู้สึกของม๊าเดี่ยวนะคะ 

“สมัยก่อนใครคบตุ๊ด ใครคบเกย์ โดนล้อแน่นอน แต่พอมาถึงรุ่นนี้เด็กเปิดกว้างมากๆ จะรักใครก็รัก  สมัยก่อนที่เขาไม่กล้าคบอะไรพวกนี้เพราะว่ากลัวเพื่อนล้อ แต่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว เพราะว่าเรากำลังรณรงค์เรื่องงดการบูลลี่ไง แล้วทุกวันนี้ไม่ค่อยบูลลี่กันแล้ว เราก็จะเห็นตัวตนจริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ มากขึ้นค่ะ”

ลิปส์: ถ้าเกิดมีโอกาสอยากจะขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมในอนาคตอยากทำเกี่ยวกับเรื่องอะไร
อภิเชษฐ์ : สิ่งที่อยากขับเคลื่อน คือ การมีลูกเมื่อพร้อม เพราะเรารู้สึกว่า สังคมทุกวันนี้ที่แย่ก็คือ ส่วนหนึ่งคือเด็กไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง ไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่อบอุ่นพอทำให้เด็กมีปัญหา แล้วพอเด็กมีปัญหา พอเด็กโตไปเป็นพ่อเป็นแม่ ก็จะกลายเป็นพ่อแม่ที่ผลิตลูกออกมาที่มีปัญหาเหมือนเดิม ม้าเดี่ยวคิดว่าการที่เรามีลูกเมื่อพร้อมแล้ว เราทำให้ลูกเรากลายเป็นคนที่อย่างน้อยก็จะกลายเป็นคนดีของสังคมได้ แล้วก็เป็นคนที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น  แล้วพอเป็นคนดีปุ๊บก็จะไม่มีการบูลลี่กัน เรื่องของพ.ร.บ. หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่เขาทำ แน่นอนค่ะ ก็จะไปได้ข้างหน้า โดยไม่มีใครมาฉุดรั้งอะไรเลย 

┃Photography : Apichade A.

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม