Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

Contemporary Matters – ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ

ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กับความมุ่งมั่นที่จะนำพาผ้าบาติกไทยสู่สากล
Interview / People

ด้วยความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุน “ผ้าบาติก” ผ้าท้องถิ่นแดนใต้ซึ่งเดิมอาจถูกมองข้ามในด้านความงามและคุณค่าให้เป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่คนไทยและไปไกลสู่ระดับสากลสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยจึงพลิกฟื้นผ้าบาติกจากจังหวัดชายแดนใต้ผ่านมุมมองแฟชั่นร่วมสมัยจากดีไซเนอร์แนวหน้าของเมืองไทยในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

     ในปีนี้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยยังคงจัดโครงการพัฒนาออกแบบลายผ้าร่วมสมัยไทยชายแดนใต้สู่สากลอย่างต่อเนื่องโดยลงพื้นที่ร่วมมือกับผู้ประกอบการผ้าบาติกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานียะลานราธิวาส) และ 4 อำเภอของสงขลา (จะนะเทพานาทวีสะบ้าย้อย) เพื่อพัฒนาเป็นคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าร่วมสมัยผ่านฝีมือการดูแลของ 2 ดีไซเนอร์ได้แก่ธีระฉันทสวัสดิ์และเอกทองประเสริฐซึ่งหลงใหลผ้าไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

     ดร.วิมลลักษณ์ชูชาติผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเล่าว่าการที่โครงการนี้ต่อยอดมาได้เพราะความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

     “เดิมทีเราลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อส่งเสริมในด้านวรรณกรรม แต่พอได้พูดคุย แลกเปลี่ยน เรียนรู้กับชุมชนจึงได้เข้าใจวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ และมองเห็นภูมิปัญญาในการทำผ้าบาติกของคนในท้องถิ่นที่น่าสนับสนุน คนในพื้นที่เองก็อยากที่จะเปลี่ยนแปลงทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อขยายตลาดของเขา จึงเกิดเป็นการจับมือกันเพื่อทำงาน

     …เราเข้าไปเรียนรู้กับชุมชนว่า เขาให้ความสำคัญกับอะไร ในกลุ่มมุสลิมที่ทำผ้าบาติก เขาก็จะมีข้อยกเว้นที่เกี่ยวข้องกับศาสนา การทำลวดลายต่าง ๆ ต้องไม่ขัดกับความเชื่อและข้อยกเว้นนั้น การพัฒนาชิ้นงานยังคงเป็นเทคนิคที่ชุมชนถนัด เพียงแต่ปรับการใช้สีสันและการคิดลายผ้า เพื่อให้ผู้ประกอบการต่อยอด และข้ามขีดจำกัดในการสร้างสรรค์ชิ้นงานของตัวเอง รวมไปถึงการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดชิ้นงานที่แตกต่างออกไป ให้ถูกตาต้องใจผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนไทย หรือต่างประเทศ

“การนำความร่วมสมัยมาพัฒนาผลงาน คือการนำของใหม่ให้เข้าไปผสานกับของเดิมที่มีคุณค่า โดยรักษาคุณค่านั้นไม่ให้หายไป เพราะสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นต้นทุนที่เขาจะนำไปใช้กับสิ่งอื่นได้ และใช้ได้อย่างไม่มีวันหมด เราเปรียบเทียบเหมือนเป็นการปรุงรสอาหาร ที่ต้องปรุงให้ถูกใจผู้ชิม แต่แม่ครัวก็ต้องชอบด้วย”

     ผ้าบาติกจากฝีมือการพัฒนาของผู้ประกอบการในโครงการนี้มีลวดลายแปลกตาอันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์และผู้ประกอบการสีสันฉูดฉาดกลายเป็นโทนสีที่เป็นมิตรเข้าถึงได้ง่ายใช้งานได้จริงยิ่งมีการนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายโดยดีไซเนอร์ที่มองผ่านสายที่มีความร่วมสมัยผืนผ้าบาติกเหล่านั้นกลายเป็นสินค้าที่เข้าสู่ตลาดในไทยและต่างประเทศได้

     “พอมีการปรับลวดลายและสีสันให้ดูซอฟต์ลง และเป็นมิตรมากขึ้น ก็กลายเป็นว่าคนนอกพื้นที่ถูกใจ ผู้ประกอบการก็ขยายตลาดไปนอกพื้นที่ได้ ผ้าบาติกร่วมสมัยของผู้ประกอบการบางราย เป็นที่ต้องตาถูกใจลูกค้าประเทศญี่ปุ่น ก็ได้ออเดอร์กลับมาต่อเนื่อง มีลูกค้าส่งผ้าจากญี่ปุ่นมาให้เขาวาดลวดลาย แล้วส่งกลับไปตัดเป็นกิมิโน หรือชุดจากโครงการของเราในปีที่ผ่านมาก็ได้รับการชื่นชมในเวทีแฟชั่นต่างประเทศอย่างมากเช่นกัน”

     ดร.วิมลลักษณ์เล่าพลางชี้ให้ดูชุดผ้าบาติกลวดลายและสีสันสวยงามที่เธอสวมใส่ว่าเป็นหนึ่งในผลงานจากโครงการปีที่ผ่านมาเช่นกันส่วนผลงานของผู้ประกอบการในปีนี้มีด้วยกัน 8 รายจาก 4 จังหวัดในภาคใต้ได้แก่บาติกเดอนาราและรายาบาติกจากจังหวัดปัตตานีศรียะลาบาติกและอาดือบาติกจากจังหวัดยะลาอ่าวมะนาวบาติกและซาโลมาปาเต๊ะจากจังหวัดนราธิวาสและมีดีที่นาทับและนาหม่อมบาติกจากจังหวัดสงขลาซึ่งผลงานผ้าบาติกร่วมสมัยของผู้ประกอบการทั้ง 8 รายนี้ได้รับการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายร่วมสมัยในคอลเล็กชั่นของ 2 ดีไซเนอร์ไทยธีระฉันทสวัสดิ์และเอกทองประเสริฐ 

     ผลสำเร็จจากโครงการนี้พิสูจน์ถึงความสำเร็จในด้านรายได้ ความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่น และการพึ่งพาตนเอง

     “เขามีความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตัวเองว่า ของท้องถิ่นเป็นของที่มีคุณค่า ต่างจากเมื่อก่อนที่คนมองว่าคนท้องถิ่นเป็นคนชั้นสอง แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว กลายเป็นว่าฉันมีของดีของฉันแล้วนะ ฉันมีความต่างที่ภูมิใจ งานที่เราทำเป็นทั้งการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมด้วย

     …ในช่วงโควิด ธุรกิจในจังหวัดชายแดนใต้ต้องหยุดเหมือนกัน แต่ผู้ประกอบการของเราเขามีงานทำต่อเนื่อง ด้วยเหตุที่ว่า ในปีที่ผ่านมา สศร. ลงพื้นที่แล้วเห็นว่า มีเศษผ้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก เราจึงพาดีไซเนอร์ผลิตภัณฑ์ไปทำเวิร์กช็อปกับชุมชน เพื่อเปลี่ยนเศษผ้าให้เป็นเครื่องประดับ และหน้ากากผ้า ชุมชนจะได้สร้างรายได้เพิ่ม และเป็นการลดขยะไปด้วย จากองค์ความรู้นี้ ผู้ประกอบการจึงนำเศษผ้ามาทำเป็นหน้ากากผ้ากันในช่วงที่ปิดโควิดแล้ววางขาย ผลก็คือมีออเดอร์เข้ามาเยอะ ทำออกมาก็ขายหมด ถึงผ้าผืนใหญ่หรือชุดจะขายไม่ได้ เขาก็หาทางออกกันได้ เขาไม่ได้รอความช่วยเหลือจากใคร แสดงให้เห็นว่า เขาดูแลกันเองในชุมชนได้แล้ว”

     เมื่อถามถึงความสำคัญของการนำศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเข้ามามีบทบาทในการสืบสานคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นดร.วิมลลักษณ์ได้ให้แนวคิดในเชิงการอนุรักษ์สิ่งมีคุณค่าให้ยั่งยืนด้วยการประยุกต์ความเก่าเข้ากับความใหม่

“ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงไป การสืบสานก็ต้องมีวิธีเล่าให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้มีคุณค่าอย่างไร ซึ่งเราเล่าผ่านงานร่วมสมัยได้ โดยหยิบจับเทคโนโลยีหรือความเป็นสากลเข้ามา ผสานความเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน ซึ่งมันบ่งบอกถึงความคิดสร้างสรรค์ การรู้จักที่จะปรับ ประยุกต์ และปรับตัวในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ โดยที่ยังสามารถรักษาคุณค่าดั้งเดิมไว้ได้ด้วย”

     แม้เวลานี้การพาผ้าไทยไปสู่สากลจะยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางอันกว้างใหญ่และยาวไกลแต่ดร.วิมลลักษณ์มีความหวังและความมุ่งมั่นอันเต็มเปี่ยมที่จะเป็นส่วนผลักดันให้ถึงจุดหมายปลายทางนั้นให้ได้

     “การพัฒนาไม่สามารถกระโดดจากจุดหนึ่งไปสู่จุดสุดท้ายได้ ระหว่างทางต้องมีอุปสรรคเป็นธรรมดา สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า เราพร้อมไปด้วยกันไหม ถ้าพร้อมไปเราก็ค่อย ๆ ขยับไปด้วยกัน ดึงคนที่อยู่ในวงจรการพัฒนาเข้ามาร่วมงานร่วมคิดไปด้วยกัน งานที่เราทำก็มีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่พระเอกของเราคือ คนในพื้นที่ในท้องถิ่น ซึ่งเขามีความตั้งใจ 

     …สำหรับเราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในการดูแล รักษา พัฒนา และต่อยอดผ้าไทย แม้จะเป็นส่วนเล็ก ๆ แต่มีความภูมิใจอย่างยิ่ง และพร้อมส่งเสริมท้องถิ่นและความเป็นไทยให้ไปสู่ระดับสากล”

┃Text : Charnporn K.
┃Photography : Somkiat K.  

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม