Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview / People

ท้าให้รักเสียงเธอ ‘Flower.far’ นักร้องไทยที่สื่อและแพลตฟอร์มดนตรีระดับโลกตามจีบ

เจ้าของสำเนียงใต้ผสมโซลที่โลกยังไม่เคยมี
Interview / People

เสียงของ Flower.far ฟาร์ – พิชญานิน หนูศรี มีอำนาจสะกดทุกคนที่ได้ยิน ด้วยเอกลักษณ์ของสำเนียงชาวใต้ผสมสไตล์ฝรั่ง แม้แต่สื่อดนตรีดังระดับโลกอย่าง NME และ COLORS ยังโดนตก!

‘ฟลาวเวอร์’ หรือชื่อเล่นที่พ่อแม่เรียกให้สั้นลงอีกว่า ‘ฟาร์’ เป็นนักเรียนดนตรีวัย 22 จากพัทลุง ผู้หอบสุ้มเสียงที่มีอานุภาพปลุกดอกไม้ให้เบ่งบานในโสตคนฟัง

กระทั่งทันทีที่เดบิวต์ ศิลปินใหม่จากเมืองไทยผู้นี้ถูกเชื้อเชิญให้ไปปรากฏตัวเป็น 1 ใน 100 ศิลปินมาแรงแห่งปี 2023 จาก NME สื่อดนตรีทรงอิทธิพลของโลกจากอังกฤษ รวมทั้งแพลตฟอร์มดนตรีคุณภาพ COLORS ที่ทำโชว์โคสศิลปินตัวเล็กๆ ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักอย่าง BILLIE EILISH และ DOJA CAT ถึงกับส่งเทียบเชิญฟาร์ไปโชว์พลังเสียงต้องมนตร์ของเธอ

Flower.far นักร้องที่เคยถูกห้ามร้องเพลง

“เราเป็นเด็กต่างจังหวัดที่มาเรียนต่างจังหวัด คือมาเรียนที่ม. มหิดล ศาลายา พ่อแม่ชอบเล่นดนตรีกันมานานแล้ว ตอนเราเด็กๆ เวลาผู้ใหญ่สังสรรค์เล่นกีตาร์ร้องเพลงกับเพื่อนบ้าน ลูกๆก็มาเต้นเป็นหางเครื่อง พอเข้ามัธยม เราเป็นนักกีฬา เล่นแบดมินตัน วิ่ง แต่แอบร้องเพลงในห้องน้ำ ก็คิดว่าตัวเองร้องเพราะนะ แต่ไม่กล้าร้องให้ใครฟัง จำได้ว่าเคยร้องเพลงแล้วอาจารย์สอนดนตรีไล่ออก เลยไม่กล้าร้องเพลงให้ใครฟังเลย

“จนเข้าม.1 มีอาจารย์ที่สนับสนุนเรื่องร้องเพลง เขาอยากให้ตอนม. 4 เราย้ายไปอยู่โรงเรียนที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งก็คือหาดใหญ่วิทยาลัยที่เราสอบเข้าได้ด้วยการร้องเพลง และเป็นนักร้องโรงเรียนจนจบม.6 เพื่อนๆงงมาก ไม่รู้ว่าเราร้องเพลงได้ แต่เป็นการเรียนร้องเพลงเพื่อเอาไปประกวด เน้นร้องเพลงโชว์พลังเสียง ซึ่งก็ผิดทาง เพราะเสียงเราแหลมเล็ก ตัวเราก็ชอบคนเสียงทุ้มต่ำด้วย ฟังแล้วอุ่น เราชอบร้องเสียงธรรมดาแต่มีรายละเอียด”

พาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางคนดนตรี

“เราอยากรู้จักและเข้าใจการร้องเพลงว่ามันทำอย่างไร ใช้อย่างไร ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะเป็นนักร้อง แต่เราไม่มีคอนเน็กชั่น ถ้าได้อยู่ในที่ที่มีคนแบบที่เราอยากจะเป็น มีศิลปิน มีอาจารย์ดนตรี มีสภาพแวดล้อมทางดนตรีก็คงจะดี เราเลยมาเรียนดนตรีเพื่อมาเรียนรู้คนเหล่านี้ เรามาสอบเข้าคณะดุริยางค์ที่มหิดล อยู่หอคนเดียว ไม่ชินเลย รถติดมาก ไกลมาก ศาลายา เดินทาง 3 ชั่วโมงยังไปไม่ทันนัด เมื่อวานมีงาน 9 โมงเช้า เราตื่นตี 5 ก็ไม่ทันอยู่ดี (ยิ้มละเหี่ย)

“ตอนปี 3 เราเริ่มคัฟเวอร์เพลงลง TikTok มีรุ่นพี่มาบอกว่าอยากให้เราส่งคลิปร้องเพลงไปที่ค่าย YUPP! ที่กำลังเปิดรับศิลปินในโครงการ YOUNG YUPP! โจทย์คือทุกคนต้องแต่งเพลงของตัวเอง เรามีเพลง LIKE A FOOL ที่แต่งไว้นานเป็นปีแล้ว แต่ไม่เคยให้ใครฟัง ตอนแรกมีแค่เมโลดี้ พอจะส่งไปออดิชั่นเลยต้องแต่งเนื้อเพลงและทำดนตรีจริงจัง พอส่งคลิปไป ปรากฏว่าผ่าน ได้เข้าไปเป็นศิลปินฝึกหัดของค่าย YUPP! เย้!”

อิทธิพลทางดนตรี

“แต่ก่อนเราร้องเพลงลูกทุ่งกับลูกกรุง เลยติดลูกเอื้อนเวลามาร้องเพลงจนทุกวันนี้ ส่วนการแต่งเพลง เราชอบแต่งเพลงภาษาไทยนะ แต่ภาษาไทยมีวรรณยุกต์ เมโลดี้ที่คิดขึ้นมาไม่สามารถใช้กับภาษาไทยได้เลยต้องเพลงแต่งเนื้อเพลง LIKE A FOOL เป็นภาษาอังกฤษ เราชินกับภาษาอังกฤษอยู่แล้ว น่าจะเพราะเพลงที่ฟังตั้งแต่เด็กเป็นเพลงฝรั่ง พ่อชอบฟังทุกแนว ตั้งแต่คาราบาว จนถึง BLACK EYED PEAS ส่วนแม่ฟังดีว่าสายร้องอย่าง CELINE DION และ MARIAH CAREY พอเราฟังเพลงตามพ่อแม่แล้วก็เริ่มสาวย้อนขึ้นไปในแนวเพลงนั้นๆ จนไปเจอ ARETHA FRANKLIN และ ELLA FITZGERALD สิ่งที่เราฟังเลยซึบซับและหล่อหลอมมาเป็นตัวเรา”

ศิลปินฝึกหัด

“ระบบฝึกที่ YUPP! จะฝึกศิลปินแต่ละคนไม่เหมือนกัน เขาจะดูว่าใครต้องพัฒนาด้านไหน ของเราเป็นเรื่องมูฟเมนต์เวลาขึ้นโชว์ เรายืนร้องเพลงตัวแข็งเชียว ไม่ค่อยขยับ (หัวเราะ) เลยต้องเรียนการเคลื่อนไหวและการเต้นแบบจริงจัง และได้เรียนจิตวิทยาด้วย ชอบมาก เป็นเรื่องที่ทุกคนควรเรียนกัน

“กระบวนการฝึกทุกอย่างประมาณ 6 เดือน แล้วค่อยประกาศคนแรกที่ได้เดบิวต์ เราเป็นคนที่สอง ตอนที่รอฟังผลก็ไม่ค่อยเครียดนะ คิดว่าได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้เป็นศิลปินก็อาจจะเสียดายบ้าง แต่เป็นเรื่องปกติ เราเดบิวต์ด้วยเพลงที่แต่งเองก็คือ LIKE A FOOL ดีใจที่ได้มีผลงานออกไป คนชอบว่าว่าแต่งเพลงแล้วเก็บไว้เองทำไม เราอยากปล่อยเพลงเองนะ แต่ไม่รู้ว่าต้องเริ่มยังไง เลยดีใจมากจากเด็กตัวเล็กๆคนหนึ่งก็ได้มีผลงานออกสื่อ”

โกอินเตอร์ตั้งแต่เดบิวต์

“ครั้งแรกที่คนภายนอกได้เห็นเราคือที่งาน ASEAN MUSIC SHOWCASE FESTIVAL เป็นงานที่สื่ออินเตอร์ ผู้จัดเฟสติวัลต่างชาติและในไทยจัดร่วมกันเพื่อให้ชมศิลปินหลากหลายแนว เป็นการส่งเสริมศิลปินในอาเซียน ปีนั้นจัดงานที่สิงคโปร์ เราไม่ได้เริ่มเป็นที่รู้จักในไทยก่อน แล้วค่อยไปอาเซียน เดี๋ยวค่อยไปเอเชีย แล้วค่อยไปยุโรปหรืออเมริกา

“เราคิดว่าการได้แสดงผลงานคือสิ่งที่จำเป็นมากๆสำหรับศิลปินไทย เราจำเป็นต้องมีเวทีให้ได้โชว์ผลงาน มันช่วยได้มากจริงๆ เพราะหลังจากงานนั้น ทาง NME ก็ติดต่อมาให้เราอยู่ในลิสต์ NME100 เป็น 1 ใน 100 ศิลปินใหม่น่าจับตาในปี 2023 ดีใจมาก NME เลยนะ! เป็นสื่อดนตรีใหญ่มาก ศิลปินในลิสต์ก็มาจากทั่วโลกเลย เราเหวอไปเลย ใช่หรือ จริงหรือ

“ช่วงเวลาใกล้เคียงกันสุดๆ ทาง COLORS ก็ติดต่อมาให้เราไปโชว์เคส อยู่ดีๆเขาส่งอีเมลมาถึงผู้จัดการ ทีมงานเขาเล่าว่ากำลังใช้คอมพ์อยู่ แล้วอัลกอริทึมยูทูบก็ส่งเพลงเราไปบนหน้าจอเขา พอเขาเปิดฟังก็อ้าปากค้างเลย เขาเลยส่งอีเมลมาหา YUPP! ทันที พอรู้ว่าเราจะได้ไปร้องโชว์กับ COLORS ก็อึ้งมาก เพราะศิลปินดังๆ เคยไปโชว์การแสดงสดเยอะ BILLIE EILISH หรือ DOJA CAT ที่เราชอบก็ไป ทุกคนที่เจ๋งๆไปกันหมด”

ประสบการณ์ร้องสดบน COLORS

“ทาง COLORS มีเงื่อนไขคือขอเพลงใหม่ที่ยังไม่เคยปล่อยที่ไหนมาก่อน เราเลยแต่งเพลงใหม่ 2 เพลงภายใน 2 วันส่งไปให้ทาง COLORS เราตีโจทย์ว่าเราอยากนำเสนอเพลงแบบไหน เขาเลือกเพลง WALK AWAY เนื้อหาเกี่ยวกับวังวน ความสัมพันธ์ที่เข้าไม่ได้ ออกไปก็ไม่ได้ เหมือนวิ่งอยู่ในวงกลม

“เราบินไปถ่ายทำกันที่เวียดนาม ในสตูดิโอกว้างๆ ผนังเป็นสีๆ มีเวทีเตี้ยๆ กับไมโครโฟนหนึ่งตัวแค่นั้น ทีมงานทำงานกันจริงจังมาก ตอนแรกเราคิดว่าโดนหลอกหรือเปล่า ไม่คิดว่าเป็นเรื่องจริง ตอนไปสตูดิโอยังคิดแบบนี้อยู่เลย พอขึ้นไปร้องเพลง สายตาทุกคนจับจ้อง ทั้งสตูดิโอเงียบมาก พอเราร้องเพลงจบ ทุกคนก็พยักหน้าให้กัน ปากเบี้ยวและปรบมือ ประมาณว่าคนนี้ได้! คนนี้โดน! การถ่ายทำเป็นลองเทค เราร้องเทคเดียวผ่าน แต่เขาถามเผื่อว่าเราอยากร้องอีกเทคหรือเปล่า เราเลยร้องเพลง 2 รอบ เพราะคิดว่าท่ายังไม่สวยพอ (หัวเราะ) ศิลปินไทยคนแรกที่ได้ไปโชว์เคสกับ COLORS คือพี่ภูมิ (วิภูริศ ศิริทิพย์) คนที่สองก็คือเราเอง (เขินอาย)”

ก้าวต่อไปของ Flower.far

“เราตั้งเป้าไว้ว่าอยากทำงานเพลงไปยาวๆ อยากไปแกรมมีอวอร์ดส์ ไปทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลก เราชอบ RIHANNA กับ DOJA CAT ก็อยากทำได้แบบนั้นบ้าง

“ทุกวันนี้รู้สึกขอบคุณคนรอบข้างที่สนับสนุน พี่ๆที่ค่ายและคนที่ฟังเพลงเรา เพราะเราเจอรุ่นพี่และอีกหลายๆคนที่ทำเพลงแล้วลงยูทูบโดยไม่ต้องมีค่ายเพลง แต่ว่าเพลงดีๆและเพราะจำนวนมากมายเหล่านั้นกลับได้ศูนย์วิว นี่อาจเป็นโจทย์หนึ่งของวงการเพลงเมืองไทยว่าต้องทำอย่างไรเพลงดีๆเหล่านี้จึงจะเข้าถึงคนฟังได้ เรามองว่าศิลปินไทยเก่งมากๆ แต่มีปัญหาเรื่องผลงานว่าจะทำอย่างไรให้คนภายนอกได้ฟังได้ดูกัน ทุกสิ่งทุกอย่างต้องช่วยกัน ทั้งเรื่องโปรโมท การจัดการ ธุรกิจ และทุกๆอย่าง เป็นเหตุผลว่าทำไมเราแต่งเพลง LIKE A FOOL เสร็จมาเป็นปีแต่ไม่ทำอะไรกับมันต่อ มันคือเรื่องนั้นแหละ”

ผสมสำเนียงใต้กับสไตล์ตะวันตก

“ตอนนี้เราทำเพลงทั้งภาษาอังกฤษและเพลงภาษาไทย โจทย์ของเราที่คิดหนักมากคือ จะทำอย่างไรให้เพลงเหล่านี้เป็นซาวนด์ที่จะได้ฟังจากเราเท่านั้น หลายคนบอกว่าเสียงของเรามีความเซาท์เทิร์นและมีความเป็นฝรั่ง แต่ก็ไม่ได้เป็นฝรั่งจ๋า เราจะทำอย่างไรที่จะเอาสองอย่างนี้มารวมกัน คำตอบอาจเป็นการแต่งเพลงเป็นภาษาใต้ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ดูยัดเยียด ไม่ให้ฟังแล้วน่าอึดอัด พี่ๆบอกว่าเวลาร้องเพลงมีสำเนียงเพลงลูกทุ่ง มีสำเนียงถิ่น ถ้าเราไม่ได้เกิดและโตที่ภาคใต้ เราจะไม่มีทางได้สำเนียงแบบนี้

“นั่นอาจเป็นสิ่งที่เรากำลังทำให้วงการเพลงไทยก็เป็นได้”

ฟาร์สวมเครื่องแต่งกายทั้งหมดจาก KARL LAGERFELD และรองเท้าจาก HAVANA LAAS
HAIR & MAKEUP: PONGSAMUSCHA SOMBOON

Words: Suphakdipa Poolsap
Photograph: Somkiat Kangsdalwirun

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม