Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

Cuscus the Cuckoos ศิลปินผู้สร้างสัตว์สุดประหลาดทะลุมัลติเวิร์ส

ลิง กระต่าย หมี ทุกสปีชีส์รวมร่างกันได้ในโลกศิลปะ
Interview / Professional
กุ๊ก ชนิดา วรพิทักษ์ ศิลปินที่ใช้ชื่อว่า Cuscus the Cuckoos

แม่ที่กลัวความตาย ศิลปินที่หลงใหลในความโศก โลกมืดดำที่ถูกขย้ำด้วยสรรพสีสัน สัตว์ประหลาดสารพันที่เป็นส่วนผสมของหมี นางฟ้า ซาตาน นั่นละคือจักรวาลที่ทุกสิ่งล้วนเป็นไปได้ ตั้งแต่ศิลปะดิจิทัลจนถึงภาพเพ้นต์และแฟชั่นไอเท็มของ กุ๊ก – ชนิดา วรพิทักษ์ ศิลปินที่ใช้ชื่อว่า Cuscus the Cuckoos

จักรวาลแห่งความเป็นไปได้

หมีนอนแช่ในอ่างอาบน้ำมีขนและขาปุกปุยพร้อมกับจระเข้ กุ๊กบอกว่านั่นคือ ซูลิส เทพีแห่งบ่อน้ำที่มีพลังช่วยรักษาและฟื้นคืนทุกสิ่งอย่าง ส่วนหมีหูยาวราวกับกระต่ายที่มีขาใหญ่โตเหมือนช้างคือผู้ครองเมืองหลวงเมื่อ 4,000 ปีก่อนสมัยที่ยังมีดวงอาทิตย์ 3 ดวงอันเป็นผลจากการให้กำเนิดชิปคอมพิวเตอร์โดยมิได้ตั้งใจของจักรวาล และยังมีผู้เสพความกลัวที่ความกลัวของมันเองมีขนาดมหึมาเท่ากับจักรวาล 11 แห่งรวมกันซึ่งอยู่ในร่างของ…หมีแฝดลายเสือพาดกลอน

สัตว์ประหลาดอาละวาดอยู่ในผลงานภาพแล้วภาพเล่าของ ‘กุ๊ก’ ศิลปินผู้มีสมัญญาว่า Cuscus the Cuckoos ซึ่งชื่อนี้ก็ได้มาจากลิงหน้าแบ๊วจากออสเตรเลีย ความน่าเอ็นดูของผองสัตว์เหล่านี้มาพร้อมภูมิหลังสุดขอบจินตนาการ หรือในจักรวาลของกุ๊กแปลว่า ‘เราไม่รู้หรอกว่ามันมีหรือไม่มีอยู่จริง’

“เพราะชีวิตคือ Stimulation (สถานการณ์จำลองที่จัดสภาพแวดล้อมเลียนแบบของจริงให้ใกล้เคียงสภาพความเป็นจริงให้มากที่สุด) อยู่แล้ว” ประโยคนี้กุ๊กบอกด้วยว่าจำมาจากการ์ตูนของอาจารย์เทสึกะ โอซามุ ผู้เขียนมังงะเรื่องเจ้าหนูอะตอมอันโด่งดังที่เธอรับมาใช้เป็นปรัชญาชีวิต

ในความน่ารักของสัตว์ประหลาดและผลงานสร้างสรรค์ของกุ๊กทุกชิ้นนั้น แม้จะอาบอวลไปด้วยสีแสบสันสุกสกาว หากพวกมันถือกำเนิดมาจากบ่อน้ำแห่งความกลัว ความตายและความเศร้า อันเป็นคำถามที่กุ๊กเผชิญในฐานะมนุษย์และแม่ ทั้งยังเป็นสมมติฐานของกุ๊กในนามของศิลปินว่าสิ่งที่ถูกแปะป้ายว่าดำมืด หากฉาบด้วยสีสัน ผลจะออกมาเป็นเช่นไร

ความกลัวของแม่

“เรากลัวตายตั้งแต่เรามีลูก” กุ๊กบอกซื่อตรง “ก่อนหน้านั้นเราใช้ชีวิตเต็มเหนี่ยว แต่พอลูกยิ่งโต เรายิ่งผูกพันกับลูก เราจะตายไม่ได้นะ สัตว์ที่ออกมาจากความกลัวของเรามีพื้นฐานมาจากความชอบในตุ๊กตาของเราอยู่แล้ว เราชอบตุ๊กตาผ้าโบราณ” ประเภทที่เวลาเดินลงมากินน้ำตอนดึกๆแล้วมันลืมตาโพลงท่ามกลางความสลัวใส่เราน่ะหรือ กุ๊กหัวเราะ บอกใช่

“แต่เราไม่กลัว เพื่อนๆเวลาไปเจอตุ๊กตาตัวที่ไม่มีใครซื้อ ก็จะซื้อตัวนั้นแหละมาฝากเรา ต้องเป็นเราที่ชอบ” สัตว์ในนิทรรศการแรกของกุ๊ก หากมองเผินแล้วคล้ายหมี แต่กุ๊กว่าไม่เชิง “เราไม่ได้วาดหมี แต่คนมองไปทางหมี ตัวเราคิดว่าเขาคือนางฟ้าเลยเติมปีกให้ จริงๆอาจเป็นซาตานก็ได้ ไอเดียเราคือถ้าตายแล้ว คุณจะเห็นอะไร มีประมาณ 25 ภาพในงาน ภาพไหนถูกโฉลกคุณ นั่นละคือสิ่งที่คุณจะได้เห็นหลังความตาย”

ตลอดเวลาที่พูดคุย สีหน้า แววตา น้ำเสียงของตัวศิลปินสดใสไร้วี่แววว่าจะขบคิดถึงด้านมืดมากมาย แต่สิ่งเหล่านี้คือพลังขับเคลื่อนงานสร้างสรรค์ของกุ๊ก เฉกเช่นศิลปินผู้มาก่อนหน้าเธอทั้งหลาย “ศิลปินหลายๆคนที่เราชอบ ถ้าไปอ่านประวัติก็จะเห็นว่าผลงานของเขาเกิดจากความเศร้าและความกลัว คนที่มีความสุขแล้ววาดรูปก็มี แต่เราไม่ได้ชอบงานแนวนั้น อย่าง David Hockney ที่รูปสีสันหวานใสมากแต่ชีวิตจริงเศร้าสุด หรือ Francis Bacon ที่วาดแนวแอ็บสแตรกต์ สีสวยงาม แต่พออ่านแคปชั่นรูปแล้วมันคือสีของเลือดที่เขาโดนคู่รักซ้อม มุมมองในงานการเสพของศิลปินนั้นๆก็เปลี่ยนไป สีดำไม่ใช่ความเศร้าเสมอไป ต้องดูที่มาของความคิดด้วย” กุ๊กกล่าว

เวลาว่างของแม่…ก็ใช้ไปกับศิลปะสิคะ

หลังเรียนจบด้านกราฟิกดีไซน์ กุ๊กทำงานสายกราฟิกมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงทางแยกที่เธอต้องเลือกระหว่างความตายของตัวเองกับการมีชีวิตอยู่โดยไม่ได้ทำงานที่รัก ด้วยสุขภาพทางกายและใจที่แขวนอยู่ปากเหวระหว่างตั้งครรภ์ “เราคิดว่าเราผ่านมันไปไม่ได้” กุ๊กบอกถึงความคิดของตนในเวลานั้น

“คนเราแค่มีแรงและไม่ป่วยก็ดีเท่าไรแล้ว พอมีคนช่วยเลี้ยงลูก เราได้นอนเต็มๆครั้งแรกเลยนึกถึงช่วงเวลาที่หายไป เราอยากทำในสิ่งที่เราอดทำ ก็เลยวาดรูปโดยไม่ได้คิดว่าจะเอาไปทำอะไร สนใจงานปักก็ไปเข้าเวิร์กช็อปงานปักมือฝรั่งเศสโบราณ วาดบนผ้าและปักผ้า โพสต์ลงไอจีแล้วมีคนขอซื้อ อ้าว อยู่บ้านก็ทำงานได้นี่ เราก็วาดรูป โพสต์รูป ปริ๊นท์ออกมาเป็นผ้าพันคอเพราะเราอยากใช้เอง อ้าว มีคนขอซื้ออีก

“งานแฟชั่นเริ่มจากเราอยากได้ผ้าพันคอก็ทำใช้เอง พอมีคนขอซื้อ ทีหลังเวลาเราอยากได้เสื้อผ้ากระเป๋าก็จะทำเผื่อให้คนอื่นที่อยากได้ด้วย เราไม่สามารถวาดลายแล้วไปพิมพ์เอามาทำเสื้อตัวเดียวได้ ก็เลยตัดเสื้อเผื่อมาเลยหลายๆตัว แต่ไม่ได้เยอะหรอก ใช้ผ้า 10 หรือ 20 เมตร หรือเท่าที่เราจ่ายไหว เราออกแบบเสื้อผ้าเอง ไม่ได้ออกแบบตามซีซั่น ใครพรี-ออร์เดอร์ก็รับทำ เราออกแบบทรงที่ทุกคนใส่ได้ ผู้หญิง ผู้ชาย เพศไหนๆ คนตัวเล็ก คนตัวใหญ่ คนอวบ ใส่ได้หมด ถ้ามีไซส์อาจจะขายยากเลยเจาะกลุ่มฟรีไซส์ ซึ่งก็คือเราคนเดียว แต่พอทำออกมาก็มีคนซื้อตลอด ทำให้รู้ว่ามีคนที่ชอบแบบนี้

The Flowers ผลงานของ Cuscus the Cuckoos

“เราสนใจผ้าไหมไทย เริ่มจากทำผ้าพันคอไพลีเอสเตอร์ก่อน อยากทดลองว่าลวดลายที่เราวาดพอเอาไปพิมพ์ขยายใหญ่ขึ้นจะออกมาเป็นอย่างไร ไร้สาระมาก เราเสียเงินไปเยอะมาก แต่สุดท้ายเราได้ไปออกแฟร์ ซีอีโอเอ็มโพเรียม/เอ็มควอเทียร์มาชวนเราไปทำ collaboration หลังจากนั้นก็มีคนชวนไป collab ด้วยเยอะมาก แค่เพราะเราอยากไปออกงานแฟร์ผ้าพันคอ” กุ๊กเล่าถึงการต่อยอดงานศิลปะสู่แฟชั่นแบบไม่ได้เจตนาของเธอ

“จากนั้นเราเริ่มทดลองกับผ้าไหม อยากรู้ว่าลายของเราที่สีแรงๆ ไปลงผ้าไหมไทยจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็ได้รู้ว่าสีไม่ติดอีกด้าน พิมพ์สองด้านไม่ได้ อีกด้านจะขาว ต่อให้ทะลุก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องใช้ซิลค์เกรดพรีเมียมที่บางสุด ซึ่งหมายความว่าเราต้องขายผืนละ 9,000 บาท ตอนนั้นเราเริ่มฝากขายในห้าง ในร้าน The Selected ซึ่งขายดีเลย

“เราได้โรงงานพิมพ์ผ้าไหมที่ดีมาก มีเครื่องพิมพ์ระบบผ้าธรรมชาติที่ต้องใช้หมึกอีกแบบ โรงงานนี้จะเอาผ้าไหมจากชาวบ้านที่อุบล อุดร ขอนแก่น ชาวบ้านจะส่งผ้าตรงให้โรงงานซึ่งจะส่งไปขายต่างประเทศ เราเป็นคนไทยทำแบรนด์เล็กๆคนเดียวที่ได้ผ้าจากเขา เขาใจดีมาก เขาจะแจ้งเราตลอดว่าเหลือปลายผ้าเท่านั้นเท่านี้นะ แต่ถ้าเราทำเองต้องเริ่มจากผ้า 50 หลา ซึ่งมโหฬารมาก เลยลองทำเสื้อคอลเล็กชั่นเล็กๆ ลูกค้าหลักของเราคือคนญี่ปุ่นที่มาทำงานที่เมืองไทย

Three stooges ผลงานของ Cuscus the Cuckoos

“หลังจากนั้นเริ่มมีศิลปินติดต่อให้ทำงาน collaboration เยอะ อย่างพี่ตูน บอดี้สแลมจะแต่งงาน พี่โน้ส (อุดม แต่พานิช) ก็แนะนำให้กุ๊กทำงานให้ จริงๆพี่ตูนอยากให้พี่โน้สทำ แต่พี่โน้สไม่ถนัดงานคอมเมอร์เชียล หรือก็คืองานที่มีคำสั่งเกิดขึ้น (หัวเราะ) ณเดชน์ (คูกิมิยะ) ให้เราทำปกอัลบั้ม วงเก็ตสึโนว่า เราก็ทำงานให้”

เคล็ดลับการเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ

ไล่เรียงผลงานของศิลปินที่ใช้ชื่อลิงมาเป็นชื่อแบรนด์แล้ว ไม่มีคำอื่นนอกจากคำว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ นั่นทำให้กุ๊กต้องตอบคำถามของศิลปินรุ่นน้องไม่เว้นวาย “น้องๆชอบถามว่าอยากประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร เราก็จะตอบว่าต้องทำงาน” กุ๊กตอบตรงๆ ไม่ได้กวน

“เรามาถึงตรงนี้ได้ก็เพราะทำงาน คนดูไอจีแล้วเห็นคนนั้นคนนี้ประสบความสำเร็จแล้วก็ท้อ รู้สึกว่าไม่วาดดีกว่า ไม่ทำดีกว่า แต่เราเหนื่อยมาเยอะและต้องแลกกับเวลาด้านอื่นๆที่หายไป เงยหน้ามาอีกทีหมดปีแล้ว ไม่ได้ออกไปสังคมที่ไหน โลกของศิลปินต้องการความสันโดษสูง

“สามีเราทำงาน 3D มีเพื่อนชาวต่างชาติเยอะ เวลาเพื่อนเขามาเมืองไทย เราจะขอให้มาเล็กเชอร์ให้น้องๆที่นี่ฟังว่าชีวิตศิลปินที่เซี่ยงไฮ้ หรือที่ประเทศต่างๆเป็นอย่างไร ซึ่งพอได้ฟังแล้วก็ไม่มีใครมีความสุขไปหมดหรอก ต่อให้คุณอยู่ท็อปสุดของโลก แต่เขาก็ต้องตื่นมาทำงานกินข้าวเหมือนเราแหละ เราเลยบอกน้องๆว่ายิ่งแค้นยิ่งทำงานยิ่งดี ถ้าเรามีความสุขสิไม่ต้องทำงาน ไปหาพ่อแม่ ไปเที่ยว ไปเจอเพื่อน และเราว่าเด็กที่เจ๋งในตอนนี้คือเด็กที่ไม่ตามอะไรเลย ไม่เล่นโซเชียล แล้วมีงานด้วยนะ อาจจะส่งพอร์ตไปทื่อๆ แล้วก็ติดต่อกันผ่านอีเมลแบบที่เราทำกันสมัยก่อน

Sky shaker ผลงานของ Cuscus the Cuckoos

“เราเห็นหัวข้อทีสิสของเด็กรุ่นใหม่หลายๆคนเป็นเรื่อง ‘ไม่ได้อยากเกิดมา’ เด็กรุ่นใหม่ไปศึกษาปรัชญาของคนที่ต่อต้านการเกิด (Anti-natalism เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าการสร้างมนุษย์ขึ้นมาบนโลกเกือบทุกกรณีเป็นเรื่องผิดศีลธรรมที่คนจะสืบพันธุ์และมีลูก และอาจจะดีกว่าถ้ามนุษยชาติสูญพันธุ์ผ่านการจงใจไม่มีลูกทั้งสปีชีส์) ลูกไม่ได้ขอมาเกิด เราเห็นหัวข้อแล้วตกใจเลย เด็กรุ่นนี้คิดแบบนี้กันหรือ แต่เราเข้าใจนะ

“เด็กรุ่นนี้เกิดมาโลกที่กำลังพัง คนรุ่นก่อนหน้านี้ใช้ของที่ควรจะเป็นของเขาไปหมดแล้ว แล้วเขาจะอยู่อย่างไร” กุ๊กแชร์อีกด้านของอิทธิพลโซเชียลอันสวยงามให้ฟัง เราถามว่าแล้วเธอบอกคนรุ่นใหม่ไปว่าอะไร

ศิลปินผู้มีด้านมืดเป็นจุดกำเนิดงานสร้างสรรค์ใหม่กล่าวว่า “ไหนๆก็เกิดมาแล้วก็ลองดูหน่อย”.

Twin love ผลงานของ Cuscus the Cuckoos

Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Cuscus the Cuckoos

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม